การปิดกั้นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม รวมไปถึงการตัดไฟฟ้าของโรงพยาบาล การบังคับให้ผู้ป่วยอพยพ รวมไปถึงเหตุการณ์ระเบิดโรงพยาบาลใหญ่ในฉนวนกาซา หาก 'อิสราเอล' กระจำจริง อาจเป็นการก่ออาชญากรรมสงครามที่รัฐและผู้นำต้องรับโทษ
หลังมีการปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเมื่อวันอังคาร (17 ต.ค.) ที่โรงพยาบาลอัล-อะห์ลี แบปทิสต์ (al-Ahli Baptist Hospital) ในฉนวนกาซา ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 500 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นประชากรพลัดถิ่นที่อพยพหนีภัยสงคราม และกลุ่มฮามาสกล่าวว่าการพุ่งเป้าโจมตีโรงพยาบาลครั้งนี้ถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยที่ทางการอิสราเอลออกมาปฏิเสธ โดยอ้างว่าระเบิดดังกล่าวเป็นจรวดลูกหลงของฝั่งปาเลสไตน์เอง ที่เล็งเป้าหมายเล่นงานอิราเอล พุ่งผ่านโรงพยาบาลในช่วงเวลาของการโจมตี และกล่าวโทษไปที่นักรบญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ ขณะที่นักรบญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ก็ยืนกรานว่าไม่มีจรวดของพวกเขาลูกไหนที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่โรงพยาบาล โดยบอกว่าพวกเขาไม่ได้เคลื่อนไหวทั้งในหรือรอบเมืองกาซาซิตี ในช่วงเวลาดังกล่าว
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ที่มีแผนการเดินทางไปพบผู้นำอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ได้แสดงความขุ่นเคืองและเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น พร้อมเผยว่าได้สั่งการให้คณะทำงานด้านความมั่นคงแห่งชาติรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น และยืนยันว่าจะปกป้องชีวิตพลเรือนจากความขัดแย้งครั้งนี้
ประเทศต่างๆ ทยอยออกมาประณามการโจมตีใส่โรงพยาบาลในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น อิหร่าน แคนาดา อียิปต์ ตุรกี จอร์แดน กาตาร์ มาเลเซีย และฝรั่งเศส เป็นต้น
รวมไปถึงองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เหตุโจมตีโรงพยาบาลในฉนวนกาซา เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้โดยสิ้นเชิง และยืนยันว่าต้องนำตัวผู้ก่อการมาลงโทษ
ขณะที่ เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เขารู้สึกสยอดสยองที่ผู้คนหลายร้อยรายต้องมาจบชีวิตลงในเหตุโจมตีโรงพยาบาลในกาซา พร้อมย้ำว่า โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการปกป้องภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
องค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าไม่เคยมีการโจมตีใส่โรงพยาบาลในขอบเขตเลวร้ายเช่นนี้มาก่อน พร้อมบอกว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์และเสบียงทางการแพทย์ต้องเข้าถึงฉนวนกาซาโดยเร็ว และกล่าวเตือนเกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมในระยะยาว
นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลว่า ระบบการสาธารณะสุขในกาซาล่มสลายลงแล้ว มีคนไข้มากกว่าเตียงเป็น 2 เท่า และคนไข้ก็ไม่สามารถใช้ห้องผ่าตัดได้ ในขณะที่โรงพยาบาลกำลังขาดแคลน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอิสราเอล ก็สั่งปิดกั้นความช่วยเหลือไม่ให้เข้าถึงกาซา รวมถึงอาหาร เชื้อเพลิง และไฟฟ้า ทำให้โรงพยาบาลมีเชื้อเพลิงเหลือเอาไว้ปั่นไฟได้แค่ไม่กี่วันเท่านั้น ซึ่งนอกจากผู้บาดเจ็บแล้ว ในกาซายังมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากซึ่งป่วยอยู่ก่อนแล้ว เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ที่ต้องการการรักษาทางการแพทย์
มาห์มูด ชาลาบี ผู้จัดการโครงการอาวุโสขององค์กรให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ต่อชาวปาเลสไตน์ (MAP) แสดงความเป็นห่วงในเรื่องที่มีการปิดกั้นกาซาว่า มันก็จะกลายเป็นหายนะด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดที่ปาเลสไตน์ประสบนับตั้งแต่ปี 2491
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่ทางการอิสราเอลออกคำสั่งอพยพคนกว่า 1.1 ล้านคนจากทางกาซาตอนเหนือ รวมทั้งผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้องค์การอนามัยโลกออกมาเรียกร้องให้กองทัพอิสราเอลยกเลิกคำสั่ง เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้เลย และหากมีการอพยพจริงอาจจะส่งผลต่อความเป็นความตายของผู้ป่วย เพราะการอพยพผู้คนจำนวนมากจะล่าช้า ท่ามกลางสภาพถนนที่ได้รับความเสียหาย ขาดเครื่องมือที่จำเป็นในการลำเลียงคนไข้ ในขณะที่ผู้ป่วยไม่สามารถจะรอเวลาได้ และย่อมจะส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่แพทย์ และพลเรือนคนอื่นๆ ที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังเช่นกัน
ทั้งนี้ มติของสหประชาชาติในปี 1970 ในเรื่องของกฎเกณฑ์พื้นฐานสำหรับปกป้องพลเรือน ในกรณีมีการขัดกันทางอาวุธ ซึ่งสมัชชาสหประชาชาติ ได้เน้นย้ำว่า “สถานที่ หรือพื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อปกป้องพลเรือน เช่น โรงพยาบาล หรือค่ายผู้ลี้ภัยไม่ควรจะเป้าของการปฏิบัติการทางทหาร”
กฎข้อที่ 35 ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) ระบุว่า ห้ามโจมตีโดยตรงไปยังบริเวณที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่พักพิงของผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วย และพลเรือน
อนุสัญญาเจนีวา ปี 1949
ข้อ 11 ระบุว่า “ไม่ว่าในพฤติการณ์ใดๆ ก็ตาม ห้ามมิให้เขตสำหรับโรงพยาบาลเป็นจุดสำหรับการโจมตี เขตนั้นๆ จะต้องได้รับความคุ้มครองและเคารพจากภาคีคู่พิพาททุกเมื่อ”
ข้อ 12 ระบุว่า “ในกรณีที่มีการยึดครองอาณาเขตนั้น เขตโรงพยาบาลและเขตปลอดภัยที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตนั้นๆ จะคงได้รับความเคารพและคงใช้เช่นนั้นต่อไป”
ทั้งนี้ หากรัฐละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมจะต้องชดเชยค่าเสียหายต่อความสูญเสียและการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น ในขณะที่บุคคลที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามจะต้องถูกค้นหา สอบสวน และดำเนินคดี โดยกระทำภายในรัฐ หรืออาจมีการส่งเรื่องไปทางศาลระหว่างประเทศ องค์การสหประชาชาติ (United Nations)