ผู้นำตุรกี ชี้เรือรบของสหรัฐฯ ลอยลำอยู่ไม่ห่างจากอิสราเอล เป็นสัญญาณเตรียม "สังหารหมู่" ชาวปาเลสไตน์ ด้านกองกำลังติดอาวุธชาติอาหรับ ลั่นพร้อมตอบโต้สหรัฐฯ ทุกวิถีทาง หากยังแทรกแซงสงคราม
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี กล่าวถึงการที่เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐ เคลื่อนเข้ามาลอยลำใกล้กับชายฝั่งอิสราเอล เป็นสัญญาณของการ “เตรียมสังหารหมู่ครั้งร้ายแรง” กับประชาชนในฉนวนกาซา
ผู้นำตุรกียืนยัน รัฐบาลมีความพร้อมทำหน้าที่คนกลาง ในการเจรจาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เพื่อฟื้นฟูความสงบ อย่างไรก็ตาม ผู้นำตุรกีเน้นย้ำ สนับสนุนการเจรจาบนแนวทางสองรัฐ
ด้านรัฐบาลวอชิงตันยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการ ต่อการวิจารณ์ของผู้นำตุรกี ขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐออกแถลงการณ์ เตรียมมอบความสนับสนุนด้านอาวุธเพิ่มเติมให้แก่อิสราเอลอีก หลังกระสุนปืนและ “อาวุธล้ำสมัย” ซึ่งมีการประกาศส่งมอบเพิ่มเติม เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เดินทางถึงอิสราเอลแล้ว
ด้านกลุ่มติดอาวุธพันธมิตรของอิหร่านในอิรักและเยเมน ออกมาขู่ว่าจะเล็งเป้าหมายเล่นงานผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ด้วยจรวดและโดรน หากว่าวอชิงตันเข้าแทรกแซงสนับสนุนอิสราเอล ในความขัดแย้งกับฮามาส ในฉนวนกาซา ท่ามกลางสัญญาณต่างๆ ที่บ่งชี้ว่าความขัดแย้งกำลังลุกลามสู่แนวหน้าอื่นๆ
ในอิรัก คาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ กลุ่มติดอาวุธทรงพลานุภาพ ที่มีความใกล้ชิดกับอิหร่าน บอกว่าพวกเขาจะเล็งเป้าหมายเล่นงานฐานทัพต่างๆ ของสหรัฐฯ ด้วยขีปนาวุธ โดรนและกองกำลังพิเศษ หากว่าวอชิงตันแทรกแซงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล
ปัจจุบันสหรัฐฯ เหลือทหาร 2,500 นายในอิรักและอีก 900 นายในประเทศเพื่อนบ้านอย่างซีเรีย ในภารภิจให้คำปรึกษาและช่วยเหลือกองกำลังท้องถิ่นในการสู้รบกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ซึ่งบุกจู่โจมสายฟ้าแลบยึดพื้นที่อันกว้างขวางคร่อมดินแดนของ 2 ประเทศ
ส่วน ฮาดี อัล-อามิรี นักการเมืองอิรัก ผู้นำกลุ่มการเมืองและกลุ่มติดอาวุธ "องค์กรบาดร์" ซึ่งมีความใกล้ชิดกับอิหร่าน ออกมาข่มขู่ลักษณะเดียวกัน ถ้าพวกเขาแทรกแซง เราก็จะแทรกแซง เราจะพิจารณาว่าทุกเป้าหมายที่เป็นอเมริกานั้นมีความชอบธรรม"
องค์กรบาดร์ ประกอบด้วยกำลังพลขนาดใหญ่ของกองกำลังติดอาวุธระดมประชาชนแห่งอิรัก ซึ่งเป็นองค์กรกองกำลังกึ่งทหารของรัฐที่เต็มไปด้วยหลายกลุ่มก๊วนที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน
ที่ผ่านมา PMF เคยส่งสัญญาณชัดเจนสนับสนุนกลุ่มปาเลสไตน์ที่สู้กับอิสราเอล และรัฐบาลอิรัก เคยบอกเช่นกันว่าปฏิบัติการต่างๆ ของฝ่ายปาเลสไตน์ เป็นผลลัพธ์โดยธรรมชาติของสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็น "นโยบายกดขี่" ของอิสราเอล
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในอิรัก เล็งเป้าโจมตีกองกำลังสหรัฐฯ ในอิรักเป็นประจำ และสถานทูตอเมริกาประจำแบกแดด ถูกถล่มด้วยจรวดบ่อยครั้ง แม้ว่าการโจมตีลักษณะดังกล่าวเบาบางลงไปภายใต้ข้อตกลงหยุดยิงหนึ่งซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว
ในประเทศเยเมน ผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวฮูตี กลุ่มนักรบทรงพลานุภาพ เตือนว่าทางกลุ่มจะตอบโต้การเข้าแทรกแซงใดๆ ของสหรัฐฯ ในฉนวนกาซา ด้วยโดรน ขีปนาวุธและปฏิบัติการทางทหารอื่นๆ
ทางกลุ่มพร้อมเข้าแทรกแซงอย่างพร้อมเพรียงกับสมาชิกอื่นๆ ของกลุ่มที่เรียกว่า "axis of resistance" ซึ่งเป็นการผนึกำลังกันระหว่างกลุ่มกมุสลิมชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในอิรัก กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน
เอบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน และเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ได้ต่อสายตรงพูดคุยปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการหารือทางโทรศัพท์ครั้งแรกของผู้นำทั้งสอง นับตั้งแต่ริยาดและเตหะรานประกาศฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาตามแรงสนับสนุนของจีน
สื่อรัฐบาลอิหร่านรายงานว่า ไรซี และเจ้าชายโมฮัมเหม็ดได้หารือ “ความจำเป็นที่จะต้องยุติการก่ออาชญากรรมสงครามต่อชาวปาเลสไตน์” ในส่วนของเจ้าชายโมฮัมเหม็ดเอง “ทรงยืนยันว่าราชอาณาจักรซาอุฯ กำลังพยายามทุกวิถีทางที่จะประสานกับทุกฝ่าย ทั้งในระดับนานาชาติและภูมิภาค เพื่อยุติการเผชิญหน้าที่เกิดขึ้น” และพระองค์ทรงย้ำจุดยืนของริยาดที่ไม่เห็นด้วยกับการโจมตีพลเรือนในทุกรูปแบบ
ที่มา : สำนักข่าวรอยเตอร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง