svasdssvasds

สถานพินิจฯ ย้ายตัวเด็ก 14 ส่งแพทย์เฉพาะทาง พบเข้าข่ายมีอาการสุขภาพจิต

สถานพินิจฯ ย้ายตัวเด็ก 14 ส่งแพทย์เฉพาะทาง พบเข้าข่ายมีอาการสุขภาพจิต

"รมว.ยุติธรรม" ยืนยัน ด.ช.วัย 14 ปี ถูกย้ายไปรักษา "สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์" แทนสถานพินิจฯ หลังแพทย์ประเมินเบื้องต้น เข้าข่ายมีอาการสุขภาพจิต เห็นควรส่งแพทย์เฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น

วันที่ 6 ต.ค. 66 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวถึงความคืบหน้ากรณรับตัว เยาวชน 14 ปี ผู้ก่อเหตุกราดยิงประชาชนในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งขณะนี้อยู่ในความควบคุมดูแลของกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ว่า สถานพินิจฯได้มีการกระบวนการรับตัว มีแพทย์ที่ตรวจและประเมินสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็ก ซึ่งรับทราบว่าเด็กชายไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ระหว่างนี้จึงคงยังอยู่ในการดูแลของสถานพินิจฯ และตนได้รับแจ้งว่าเมื่อมีการตรวจประเมินสุขภาพจิตของเด็กชาย

สถานพินิจฯ ย้ายตัวเด็ก 14 ส่งแพทย์เฉพาะทาง พบเข้าข่ายมีอาการสุขภาพจิต

เด็ก 14 เข้าข่ายมีอาการสุขภาพจิต

ทางทีมจิตแพทย์ที่ตรวจสอบเบื้องต้นมีความเห็นว่า เห็นควรส่งตัวเด็กชายไปเข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แต่ตนไม่ได้เห็นรายละเอียดชัดเจนว่าเด็กชายมีอาการทางจิตอย่างไร เป็นเพียงสรุปรายงานที่ได้รับทราบเท่านั้น และแม้ว่าเด็กชายจะถูกส่งตัวไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ก็ตาม แต่ในทางกฎหมายไม่สามารถเปิดเผยเรื่องอาการสุขภาพของเด็กได้ ขอให้เป็นไปตามความเห็นของแพทย์ อีกทั้งทางกรมพินิจฯ ก็ได้มีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่สำหรับเข้าร่วมดูแลเด็ก ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย

นอกจากนี้ ตนไม่ได้เน้นย้ำกำชับในเรื่องใดเป็นพิเศษแก่กรมพินิจฯ เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะมีขั้นตอนการดำเนินการและรายงานให้ตนรับทราบต่อเนื่อง อีกทั้งเรื่องสำคัญอีกประการคือการที่เจ้าหน้าที่ของกรมพินิจฯ จะต้องลงพื้นที่ สืบเสาะ สืบสวนค้นหาสาเหตุที่ทำให้เด็กชายก่อเหตุดังกล่าว เพื่อที่เราจะได้ร่วมกันออกแบบกลไกป้องกันไม่ให้มีเด็กหรือเยาวชนก่อเหตุในลักษณะนี้ซ้ำขึ้นอีก

พันตำรวจเอกทวี ยังกล่าวว่า หากเด็กชายเข้ารับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางเสร็จสิ้นกระบวนการเป็นที่เรียบร้อย และเมื่อถึงวันนั้น แพทย์พิจารณาส่งกลับมายังสถานพินิจฯ ทางกรมพินิจฯ ก็จะมีโปรแกรมบำบัดฟื้นฟู เพื่อพัฒนาพฤตินิสัยซึ่งจะเป็นในส่วนที่เด็กๆภายในการดูแลของสถานพินิจฯทุกคนจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมการศึกษา การพัฒนาวิชาชีพต่างๆ เป็นต้น

มาตรการเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

ส่วนการเยียวยาเหยื่อและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กราดยิง ว่า ทางกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะได้มีการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ในกรณีของผู้เสียหายที่เสียชีวิต มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามกฎหมายสูงสุดรายละ 200,000 บาท ส่วนผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บมีสิทธิได้รับการเยียวยาเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นชาวต่างชาติก็จะได้รับค่าชดเชยผู้เสียชีวิตจากกระทรวงยุติธรรมเช่นเดียวกัน และทั้งสองส่วนจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ว่าจะมีการจ่ายเงินชดเชย เยียวยาอย่างไรบ้าง แต่ยืนยันว่าเรามีการชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายและผู้เสียชีวิตอย่างแน่นอน

สำหรับเด็กชายผู้ก่อเหตุ ได้ถูกนำตัวส่งไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เมื่อช่วงบ่ายวันที่ (5 ต.ค.66) โดยอยู่ระหว่างการประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นอย่างต่อเนื่องของทางทีมแพทย์เฉพาะทาง จิตเวชเด็กและวัยรุ่น เนื่องจากนักจิตวิทยาและนักสหวิชาชีพของสถานพินิจฯ และจิตแพทย์ได้มีการประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นร่วมกัน เห็นว่าควรนำส่งเด็กชายให้ได้รับการรักษาหรือได้รับการดูแลโดยแพทย์เฉพาะทาง จิตเวชเด็กและวัยรุ่น

ทางคณะทำงานของกรมพินิจฯ จึงได้มีการประสานไปยังผู้เชี่ยวชาญของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และขณะนี้เด็กชาย ยังคงอยู่ระหว่างการประเมินสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่องของทางทีมแพทย์เฉพาะทาง และยังไม่สามารถทราบได้ว่าทีมแพทย์ของสถาบันกับยาณ์จะมีผลพิจารณาให้เด็กชายเข้านอนพักรักษาตัว (Admit) หรือจะมีการสั่งจ่ายยารักษาแทนอย่างไร ซึ่งเป็นดุลพินิจความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา

ทั้งนี้ รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า สำหรับกรณีที่มีการส่งตัวเด็กชายไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ ไม่ได้หมายความว่าเด็กชายมีอาการป่วยจิตรุนแรงหรือแสดงความก้าวร้าว  แต่เพียงเเพทย์และคณะนักจิตวิทยาลงความเห็นร่วมกันว่าควรส่งตัวให้แพทย์เฉพาะทางได้ทำการประเมินมากกว่า

สถานพินิจฯ ย้ายตัวเด็ก 14 ส่งแพทย์เฉพาะทาง พบเข้าข่ายมีอาการสุขภาพจิต

อีกทั้งยืนยันว่า การดำเนินการทางกฎหมายกับเด็กชายผู้ก่อเหตุนั้นเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายเด็กตามหลักสากล ซึ่งผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับอายุของเด็กที่ก่อเหตุที่ไม่ต้องได้รับโทษ โดยยกตัวอย่างว่าในบางประเภท มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายโดยให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีไม่ต้องได้รับโทษ ซึ่งกฎหมายไทยมีกำหนดอายุกว่า 12 ปี แต่ไม่ถึง 15 ปี ไม่ต้องรับโทษ

พันตำรวจเอก ทวี ระบุว่า จะต้องนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อนำไปพิจารณาปรับแก้กฎหมายให้เหมาะสม ซึ่งมีกระบวนการทางรัฐสภา โดยตนเองเห็นว่าควรจะมีการร่วมหารือพิจารณากันต่อไป

related