จับตา ! นโยบายประชานิยม “รัฐบาลเศรษฐา” เตรียมกู้เงินกระฉูด 4 ปี รวม 3.61 ล้านล้าน หนี้สาธารณะแตะ 64.81% คาดปี’70 ทะลุ14 ล้านล้าน หรืออาจทำให้คนไทยเป็นหนี้คนละ 2 แสน/คน
หลายคนคงอาจดีใจรอรัฐบาลใหม่ที่นำโดย “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้ออกนโยบายต่างๆมามากมาย เรียกได้ว่าลดแลกแจกกันไปเลย ท่ามกลางโจทย์ใหญ่คือการบริหารการเงินการคลังให้อยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ให้ได้ โดยล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครอบคลุมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567- 2570 โดยมีวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 14,602,000 ล้านบาท รายได้นำส่งคลังรวม 11,745,000 ล้านบาท
แต่ทั้งนี้รัฐบาลยังคงจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่อง โดยมีแผนกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลรวม 2,857,000 ล้านบาท ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลางฉบับใหม่ รัฐบาลต้องการเงินกู้ช่วง 4 ปี (ปีงบประมาณ 2567-2570) วงเงินรวม 3.61 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 7.54 แสนล้านบาท และกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2.85 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตามหากนับเฉพาะแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง โดยไม่นับรวมวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล พบว่าช่วง 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567-2570 มีวงเงินรวม 754,004 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2567 กู้เงิน 261,757 ล้านบาท, ปี 2568 กู้เงิน 245,168 ล้านบาท, ปี 2569 กู้เงิน 160,892 ล้านบาท และ ปี 2570 กู้เงิน 86,187 ล้านบาท
ในขณะเดียวกันหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการประเมินว่าปี 2566 จะมีหนี้สาธารณะคงค้าง 11,254,544 ล้านบาท คิดเป็น 62.97% ต่อจีดีพี โดยมีหนี้สาธารณะเฉลี่ยต่อคนที่ 170,377 บาท และเมื่อถึงปี 2570 จะมีหนี้สาธารณะคงค้าง 14,363,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,108,660 ล้านบาทจากปี 2566 โดยสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 64.81% ต่อจีดีพี และมีหนี้สาธารณะเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 217,437 บาท เพิ่มขึ้น 47,060 บาท จากปี 2566
โดยในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อชำระคืน ม.28 จำนวน 104,472 ล้านบาท คิดเป็น 3.28% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้นในปีงบ 2566 จะเหลือภาระผูกพันตาม ม.28 จำนวน 935,448 ล้านบาท ดังนั้นกำหนดสัดส่วนภาระผูกพันตาม ม. 28 ไว้ที่ 35% จะมีเงินเหลือในปีงบ 2567 จำนวน 282,552 ล้านบาท หากจะนำมาใช้แจกเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ต้องขยายเพดานเป็น 45%
ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การประมาณการหนี้สาธารณะตามแผนการคลัง ระยะปานกลางนั้น สบน.พิจารณาจากตัวเลขประมาณการรายได้ และรายจ่ายตามที่หน่วยงานให้มา ฉะนั้นคาดว่าหน่วยงานที่คำนวณเรื่องรายรับ และรายจ่ายอาจจะคำนวณเรื่องนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่จะออกมาไว้ด้วยแล้ว
อย่างไรก็ตาม สบน.ประมาณการหนี้สาธารณะตามตัวเลขภาพรวมรายรับ และรายจ่าย ซึ่งกรณีที่รัฐบาลกู้ชดเชยขาดดุลก็มีการรวมสัดส่วนหนี้สาธารณะไว้แล้ว ยกเว้นแต่กรณีที่รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพิ่มเติม จึงจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากประมาณการที่คาดไว้
ดังนั้นเรื่องหนี้สาธารณะ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทยต้องรู้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องระดับรัฐบาลที่บริหารประเทศ แต่...หนี้ดังกล่าวจะสะเทือนมาถึงตัวเราแน่นอน !
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เศรษฐาส่ง หมอมิ้ง ถก รทสช. ประเด็นนโยบายพลังงาน - ลุ้นพักหนี้เกษตรกร
บก.ลายจุด จวก "ดิจิทัลวอลเล็ต" แจงยิบ 5.4 แสนล้าน จ่อสร้างหนี้-ภาวะเงินเฟ้อ
“กรณ์” เตือน แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจสะเทือนต้นทุนการเงิน-การคลัง