เนื่องในโอกาส ถึงวันที่ 19 กันยายน ซึ่งวันนี้ เมื่อปี 2549 ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่เป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศไทย เพราะเป็นวันที่ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ยึดอำนาจล้มรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เนื่องในโอกาส ถึงวันที่ 19 กันยายน ซึ่งวันนี้ เมื่อปี 2549 ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่เป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศไทย เพราะเป็นวันที่ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่มี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าได้ยึดอำนาจล้มรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเป็น ปมปัญหาการเมืองไทย ลากยาวมาจนถึงทุกวันนี้
19 กันยายน พ.ศ. 2549 เกิดอะไรขึ้น ?
ค่ำคืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 เป็นวันที่คณะทหารที่เรียกตัวเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่มี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าได้ยึดอำนาจล้มรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาจากการเลือกตั้ง และ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา
โดยในคำแถลงการณ์ของคณะผู้ยึดอำนาจ หรือ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่มี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผู้นำ ระบุ ว่า
“...การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้ม นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมืองไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน...”
การยึดอำนาจรัฐประหารในครั้งนี้ทำให้ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540” สิ้นสุดลงตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 หลังจากนั้นมาระยะเวลาหนึ่งทางคณะปฏิรูปฯ ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เป็นกติกาในการปกครองประเทศและตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
พล.อ.สนธิ คือคนที่ทักษิณ ไว้ใจ ?
ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 นับบาดแผลในใจของ ทักษิณ ชินวัตร เพราะ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะในการปฏิวัติ วันนั้น คือคนที่ นายกฯ ทักษิณ ณ เวลานั้น เลือกให้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกเอง ทำให้เขามั่นใจว่า "บิ๊กบัง" ไม่มีทางก่อการรัฐประหารอย่างแน่นอน แต่ด้วยกลยุทธ์ ลับ ลวง พราง ของ พล.อ.สนธิ กว่าทักษิณจะเริ่มระแคะระคาย ก็ล่วงเข้าไปช่วงเช้าของวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะที่ตัวเองประชุมอยู่ที่อเมริกา
กระทั่งมั่นใจว่า “โดนแน่ๆ” ก็ช่วงประมาณสี่ทุ่ม ทักษิณ ชินวัตร จึงได้ออกแถลงการณ์สถานการณ์ฉุกเฉินผ่านดาวเทียมจากสหรัฐอเมริกา เพื่อปลด พล.อ.สนธิ ออกจากตำแหน่ง แต่ทุกอย่างก็สายไปเสียแล้ว เพราะในเวลานั้นคณะรัฐประหารได้ตรึงกำลังในสถานที่สำคัญไว้ได้ทั้งหมด ก่อนประกาศยึดอำนาจ เมื่อเวลาประมาณห้าทุ่ม
• ย้อนไทม์ไลน์ 19 กันยายน 2549 วันรัฐประหารทักษิณ จนถึง วันทักษิณ กลับไทย กราบแผ่นดิน
6 ก.พ. 2548 : ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง ครั้งที่ 2 ด้วยคะแนนท่วมท้น กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯอีกครั้ง ได้ 377 สส. เป็นรัฐบาลพรรคเดียว
1 พ.ย. 2548 : สนธิ ลิ้มทองกุล และ จำลอง ศรีเมือง กลุ่ม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เริ่มเคลื่อนไหวขับไล่ทักษิณ อ้างเรื่องทุจริต ใช้อำนาจไม่ชอบ ปิดกั้นสื่อ และไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาชายแดนใต้
23 ม.ค. 2549 : ทักษิณ ชินวัตร เทขายหุ้นในชินคอร์ปให้เทมาเส็กได้เงินมา 7.3 หมื่นล้านบาท สร้างความไม่พอใจให้ชนชั้นกลางไทยเนื่องจากไม่ต้องเสียภาษี
ก.พ. - มี.ค. 2549 : ผู้คนนับหมื่นออกไปตามท้องถนนในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้ทักษิณลาออก
2 เม.ย. 2549 : ทักษิณประกาศยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่พรรคฝ่ายค้านหลักไม่ลงแข่ง และประชาชนจำนวนมากกาช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน”
8 พ.ค. 2549 : ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และจัดการเลือกตั้งใหม่
30 พ.ค. 2549 : ครม. มีมติให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในวันที่ 15 ต.ค. 2549
1 พ.ค. 2549 : พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ระบุว่า กองทัพจะไม่ทำรัฐประหาร
19 ก.ย. 2549 : คณะรัฐประหารนำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล ขณะ ทักษิณ อยู่ที่นิวยอร์ก เพื่อเข้าประชุมยูเอ็น
19 ก.ย. 2549 : ผู้นำรัฐประหาร จัดตั้ง คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หลังจากนั้น มีอำนาจเด็ดขาดในการรักษาพระนคร กล่าวหารัฐบาลทักษิณว่าก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์
20 ก.ย. 2549 : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน และผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานสถานการณ์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
1 ต.ค. 2549 : พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตองคมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 24 ของประเทศไทย
29 มี.ค. 2550 : กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปให้เป็นวันที่ 16 หรือ 23 ธ.ค. 2550
30 พ.ค. 2550 : ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคไทยรักไทยในความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง และตัดสิทธิการเมือง กก.บห.พรรค 111 คน
23 ธ.ค. 2550 : สมัคร สุนทรเวช นำ พรรคพลังประชาชน ร่างใหม่ของไทยรักไทย คว้า 228 เก้าอี้ ในศึกเลือกตั้งทั่วไปชิง 480 ที่นั่ง โดยพรรคประชาธิปัตย์ ตามมาอันดับ 2 คว้าไป 165 ที่นั่ง
29 ม.ค. 2551 : พรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคเล็ก โดยมี สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ คนที่ 25 ของประเทศไทย และ ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน
28 ก.พ. 2551 : ทักษิณ ชินวัตร กลับไทย และมีช็อต กราบแผ่นดิน อันเป็นภาพจำของ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในครั้งแรก
31 ก.ค. 2551 : ทักษิณ ชินวัตร ขออนุญาตศาลไปดูโอลิมปิกที่ปักกิ่ง แจ้งว่าจะกลับไทย 11 ส.ค. 51 แต่ไม่กลับ
22 ส.ค.2566 : ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับไทยครั้งแรกในรอบ 15 ปี และเป็นวันเดียวกับที่ เศรษฐา ทวีสิน ได้รับการโหวตจากรัฐสภา เป็นนายกฯ คนที่ 30
ข่าวที่เกี่ยวข้อง