svasdssvasds

"ชัชชาติ" ยัน รับไม่ได้ปมทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ พร้อมเอาผิดถ้ามีหลักฐาน

"ชัชชาติ" ยัน รับไม่ได้ปมทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ พร้อมเอาผิดถ้ามีหลักฐาน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยืนยัน กทม. รับไม่ได้กับเรื่องทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ ขอให้มีหลักฐานเข้ามา พร้อมดำเนินการอย่างเด็ดขาด พร้อมแจงละเอียดปม "คนใกล้ชิดรับส่วยแต่งตั้ง ผอ.เขต" แค่นัดอบรมเพิ่มเติม ทำคนทำงานเสียกำลังใจ

 วันที่ 5 ก.ย.66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวในประเด็นที่สื่อมวลชนมีการรายงานข่าวเรื่อง คนใกล้ชิดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเรียกรับผลประโยชน์ในการพิจารณาแต่งตั้ง ตำแหน่งผู้อำนวยการเขต ว่า

 จากที่มีสื่อเผยแพร่ข่าวเรื่องมีการเรียกผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตมา เพื่อเลื่อนตำแหน่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ ประพฤติตนไม่เหมาะสมนั้น ขอเรียนว่าไม่มีมูลความจริง ต้องขอบคุณทางสื่อที่ช่วยกรุณาเตือน แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ไปสอบถามและดูว่าเกิดอะไรขึ้น และมีประเด็นไหนที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน

 จากที่มีการเอ่ยถึงชื่อ ป. (นายปารุส อรหัตมานัส) ท่านเป็นข้าราชการเกษียณ เป็นคนที่อยู่กทม.มานาน เคยเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตสะพานสูง ผู้อำนวยการเขตหนองจอก เกษียณที่ตำแหน่งผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง ท่านเป็นคนที่เข้าใจระบบงานดี เมื่อเกษียณแล้วท่านก็อยากเห็นกทม. พัฒนา ก็เข้ามาช่วยดูกิจการต่างๆ โดยที่ไม่รับเงินเดือน เพราะท่านมีเงินบำนาญ และช่วยมาตลอด

"ชัชชาติ" ยัน รับไม่ได้ปมทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ พร้อมเอาผิดถ้ามีหลักฐาน

 เมื่อสอบถามไปยังท่านปารุสก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่มีการเรียกรับส่วยเพื่อรับตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น

เพราะเราต้องการคนดีมาทำงาน ถ้าเรานำคนทุจริตมาเป็นทีมงานเราสุดท้ายเราจะแย่เอง เราไม่มีทางที่จะเอาคนที่ไม่ไว้ใจ หรือไม่เก่งมาทำงาน ความคิดเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์ไม่เคยมีอยู่ในทีมนี้

 

 ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวด้วยว่า ผู้อำนวยการเขตคือหัวใจสำคัญของการบริหารเขต เรามีผู้อำนวยการเขต 50 คน แต่งตั้งมาจากผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตหรืออาจมาจากหน่วยงานอื่น ปัญหาคือบางครั้งผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตมีข้อมูลหรืออาจจะรู้บางด้านเช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข แต่อาจไม่รู้ทุกด้าน จึงมีการอบรมระดับผู้บริหารอยู่ 3 รูปแบบ แต่ก่อน คือนักบริหารระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง โดยสถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลกรุงเทพมหานคร

 ต่อมาเรามีการอบรมผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตขึ้นมาเป็นหลักสูตรเร่งรัด ที่ทุกคนต้องมาอบรมหมด ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง เป็นหลักสูตร 3 วัน 2 คืน ที่ศูนย์ฯ หนองจอก เพื่อให้ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตทั้งหมดมาร่วมกันอัปเดตข้อมูล เทคโนโลยีใหม่ๆ และเรื่องนโยบาย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับนโยบายของกทม. คือ Life Long Learning เมื่อเทคโนโลยีหรือข้อมูลเปลี่ยน กลุ่มผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตเหล่านี้ก็ได้มีการนัดกันผ่านไลน์กลุ่มมาอัพเดตข้อมูลเพิ่มเติม

 ซึ่งเหตุเกิดวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2566 ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตที่อบรมแล้วได้นัดกันมาฟังบรรยาย เรื่องพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จากอดีตผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ นายธนาชิต ชูติกาญจน์ ณ สำนักงานเขตวังทองหลาง ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. โดยมีผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตเข้ารับการอบรมประมาณ 40 คน จากที่ลงทะเบียน 70 คน ซึ่งไม่ได้มีการตั้งงบประมาณใดๆ เป็นการเรียนรู้ด้วยความสมัครใจ

 ด้านนายสรรเสริญ เรืองฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดุสิต กล่าวเสริมว่า การนัดหารือดังกล่าว เป็นการนัดหารือเรื่อง การจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) ในระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต ณ สำนักงานเขตวังทองหลาง เนื่องจากมีสถานที่พร้อมในการประชุม โดยจัดการประชุมเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งวิทยากรประกอบด้วยนายธนาชิต ชูติกาญจน์ อดีตผู้บริหารกทม. และทีมที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเนื้อหาการประชุมต้องการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ให้แก่ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตเพื่อการเป็นผู้อำนวยการเขตในอนาคต

 ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ขอให้เผยแพร่เนื้อหาข้อมูลที่ถูกต้อง ถ้าเป็นข้อมูลไม่จริงคนทำงานจะเสียกำลังใจ ซึ่งการแต่งตั้งเราแข่งขันกันด้วยผลงาน และไม่มีเหตุผลเลยที่จะแต่งตั้งผู้ที่ทุจริตขึ้นดำรงตำแหน่ง หรือเป็นผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเมื่อผิดตั้งแต่ก้าวแรก ก้าวต่อไปก็จะผิดตลอด ขอยืนยันว่าไม่เคยเรียกรับเงินเรื่องพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำต่างๆ ที่นำเสนอกันเข้ามา

 เรื่องต่อไปคือเรื่องผลประโยชน์เรื่องการประมูล เก็บขยะ ซึ่งมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมอบหมายให้นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ เนื่องจากมีประวัติเรื่องความโปร่งใส สุจริต มีความรู้ละเอียด และมีประสบการณ์ด้านนี้

 ที่ผ่านมามีการประมูลเก็บขยะตั้งแต่ปี 2563 โดยราคากลางอยู่ที่ 716 บาทต่อตัน งบประมาณ 1,045 ล้านบาท โดยผู้ชนะการประมูลผ่านระบบ e-auction เสนอราคามาที่ 683 ล้านบาท ซึ่งต่อมากทม.ได้ขอต่อรองราคาอีกประมาณ 3 ครั้ง จนราคาลดเหลือ 600 บาทต่อตัน ประหยัดงบประมาณไปได้ 169 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังด้านดูแลงบประมาณของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อจะนำงบประมาณไปดูแลเรื่องอื่น เช่น เด็ก โรงเรียน ผู้สูงอายุ เป็นต้น

 ดังนั้นเรื่องของการเรียกรับผลประโยชน์และการทุจริตจึงไม่น่าเกิดขึ้น หากเกิดขึ้นขอให้ แสดงหลักฐานและข้อเท็จจริงแจ้งเข้ามา ซึ่งกทม.จะนำไปดำเนินการอย่างเด็ดขาดและ พัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

 นอกจากนี้ในวันนี้มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ ฝ่ายโยธา สังกัดสำนักงานเขตลาดกระบัง ที่ทุจริต เรียกรับผลประโยชน์ 50,000 บาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของกทม.ด้วยเช่นเดียวกัน ที่ไม่อดทนต่อการทุจริตแม้จะเป็นคนในองค์กรก็ตาม

 ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการในเรื่องของความโปร่งใสไร้คอร์รัปชัน ทั้งนี้ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องทุจริตของเจ้าหน้าที่กทมได้ผ่าน Traffy fondue ซึ่งในปัจจุบันมีเรื่องดังกล่าวแจ้งเข้ามากว่า 100 เรื่อง แต่การตรวจสอบคงต้องใช้เวลาพอสมควร เช่นมีการล่อซื้อเพื่อให้พบหลักฐานที่เป็นรูปธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• เปิดผลงาน ชัชชาติ ผู้ว่ากทมฯ 1 ปี พลิกชีวิตเมืองหลวง นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย

• สายล้ำเตรียมเซ็ง ชัชชาติ ติดกล้อง ai ทางม้าลายเสร็จแล้ว ใครล้ำเส้นโดนแน่

• นิด้าโพล เผยผลสำรวจ “1 ปี ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ผลงานโดนใจชาว กทม. หรือไม่ ?

related