กทม.ยืนยันไม่รื้อถอน "แอชตัน อโศก" และไม่เอื้อประโยชน์ต่อใคร ย้อนการให้อนุญาตถูกต้องตามขั้นตอน กทม.ออกแบบมีเงื่อนไขตามกฎหมาย เตรียมส่งหนังสือถึง "แอชตัน อโศก" ให้แก้ไขทางเข้า-ออกภายใน 30 วัน
จากกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษา เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ "แอชตัน อโศก" ที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด จนกลายเป็นประเด็นร้อนที่สร้างความหวั่นวิตกให้กับลูกบ้าน และคนที่กำลังซื้อคอนโด
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวถึงแนวทางการดำเนินการกับอาคารชุดแอชตันอโศก ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวว่า โครงการแอชตัน อโศก แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
• เรื่องการยื่นแจ้งเพื่อขออนุญาตก่อสร้าง
• เรื่องการขอใบรับรองดัดแปลงอาคาร
โดยบริษัทอนันดาเจ้าของโครงการแอชตัน ยื่นแจ้งครั้งแรกเมื่อปี 58 ซึ่งกทม.มีหนังสือทักท้วงไป และมีการยื่นต่อมาอีกรวม 3 ครั้ง กทม. ก็มีหนังสือทักท้วงไปตลอด จนกระทั่งมีการฟ้องเป็นคดีกันในปี 58 และหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะต้องมีการยื่นขอเปิดอาคาร
ทางบริษัทฯ ได้ยื่นขอมาในเมื่อปี 60 ซึ่งกทม. ก็ทักท้วงไปเนื่องจากยังมีคดีเรื่องทางเข้า-ออก ซึ่งไม่ได้ตามที่กฎหมายกำหนดอยู่ โดยแอชตันได้ยื่นอุทธรณ์ไปที่กรรมการควบคุมอาคาร จนกรรมการอุทธรณ์ พิจารณาเห็นว่า กทม. ควรออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯให้
ซึ่งทางสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จึงออกใบรับแจ้งฯ ให้แบบมีเงื่อนไข โดยระบุว่า เรื่องที่ดินที่ตั้งโครงการซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ฟ้องคดีกรณีโครงการใช้ที่ดินของรฟม. ผ่านเข้า-ออก นั้น หากศาลมีคำพิพากษาสิ้นสุดแล้ว ผลพิจารณาทำให้อาคารดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย ผู้ได้ใบรับรองจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งต้องดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• สรุปให้ "แอชตัน อโศก" ศาลสั่งทุบคอนโดหรูพันล้าน ก่อสร้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย
• อรรถวิชช์ แนะ ใช้ มติ ครม. แก้ปัญหา "แอชตัน อโศก"
• สรุปตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 “สวนหลวง” ทำเลทอง คอนโด-บ้านเดี่ยว ครองใจ
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า กฎหมายมาตรา 41 ระบุชัดถึงเจตนารมณ์ว่า สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ โดยให้ระยะเวลา 30 วัน ซึ่งทาง กทม. จะต้องเชิญทางบริษัทอนันดา เจ้าของโครงการแอชตัน และผู้เกี่ยวข้องมาร่วมหารือว่าสามารถปรับปรุง และแก้ไขตามที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่
หากไม่ได้ทาง กทม. อาจจะขยายระยะเวลาให้ได้ตามเหตุอันสมควร และขอยืนยันว่า กทม. ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ใดทั้งสิ้น แต่คำพิพากษาของศาลตัดสินให้เพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ ไม่ใช่การรื้อถอน
ดั้งนั้น กทม. จึงต้องให้โอกาสในการยื่นขอใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ ใหม่ เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ทางเข้า-ออกอาคารที่เป็นปัญหาดังกล่าว ยังเปิดใช้การได้ตามปกติ ซึ่งกทม.จะเร่งดำเนินการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด แต่เรื่องดังกล่าว ไม่ใช่กรณีที่เร่งด่วนในเรื่องของความปลอดภัยของตัวอาคาร อาทิ เรื่องโครงสร้างอาคารไม่ถูกต้องจนอาจมีความเสี่ยงเกิดการถล่ม หรือรถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปที่อาคารดังกล่าวได้ ซึ่งนั่นเป็นกรณีที่เร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ
เพราะฉะนั้นอาคารดังกล่าวยังปลอดภัยดีอยู่ทุกประการ แต่ปัญหาเป็นเรื่องของทางเข้า-ออกอาคารที่ต้องดำเนินการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 500 ราย และเป็นความรับผิดชอบของผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่ต้องแก้ไขปัญหา
ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะทำหนังสือถึงเจ้าของโครงการเพื่อรับทราบแนวทางในการแก้ปัญหา แล้วจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลจาก รฟม. เพื่อถอดบทเรียนถึงปัญหา
กระบวนการในการแก้ปัญหาหากพบกรณีดังกล่าวในอนาคต ที่กทม.จะนำข้อมูลไป พิจารณาปรับปรุงแนวทางในการอนุญาตก่อสร้างอาคารต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีปัญหาในกรณีดังกล่าว”