สรุปให้! แอชตัน อโศก คอนโดมิเนียมหรูของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถูกศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง เหตุก่อสร้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จากกรณี ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการคอนโด แอชตันอโศก ตามคำฟ้องของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ได้ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่1),ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2),ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3), ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ,คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และ บริการชุมชน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5) และ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด
โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ในประเด็น สำคัญ ที่ว่า ที่ดินของ รฟม.ไม่อาจนำมาให้บริษัท ฯ หรือเอกชนใช้ในการทำโครงการได้ จึงทำให้หน่วยงานของรัฐไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมาบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด ออกแถลงการณ์กรณีคดีที่ดินโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนา รวมถึงบุคคลอื่น ๆ ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยบริษัทอยู่ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากผลแห่งคดี ในฐานะผู้ร้องสอด หลังศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ป.ป.ช. ฟัน ม.157 "อิทธิพล" คดีออกใบอนุญาตคอนโดสูง 57 ชั้น สมัยนั่งนายกฯพัทยา
• สรุปตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 “สวนหลวง” ทำเลทอง คอนโด-บ้านเดี่ยว ครองใจ
• คนจีนซื้อคอนโดในไทยมากสุด! รองลงมาเป็นรัสเซีย กทม. ชลบุรี สมุทรปราการ แชมป์
โดยแถลงการณ์ของ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวก (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนา ที่ 1 ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ที่ 2 ผู้ว่าราชการ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ 4 คณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ที่ 5 (ผู้ถูก ฟ้องคดี) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด “บริษัท” ซึ่งไม่ใช่ผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรง แต่ถูกเรียกเข้ามาในฐานะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากผลแห่งคดี ในฐานะผู้ร้องสอด ในคดีหมายเลขดำที่ อส 67/2564 หมายเลข แดงที่ อส.188/2566
โดยศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง บริษัทฯขอน้อมรับและ เคารพในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดตามที่ได้วินิจฉัยไว้
กรณีที่ศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยไว้ในประเด็นสำคัญที่ว่า ที่ดินของ รฟม. ไม่อาจนำมาให้บริษัท หรือเอกชนใช้ในการทำโครงการได้ จึงทำให้หน่วยงานของรัฐไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น
บริษัทเห็นว่า ศาลปกครองซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ และหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับเอกชน เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้ง เพื่อวางแนว หรือสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการให้ถูกต้องชอบธรรม
อีกทั้งภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทยทุกฉบับ รวมถึง ฉบับปัจจุบันพุทธศักราช 2560 ในส่วนบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่รัฐจะอนุมัติ หรืออนุญาตให้ผู้ใดทำการได้ ก็จะต้องดำเนินการไปตามกฎหมายโดยรัฐมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องใช้อำนาจและทำหน้าที่ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ประมาทเลินเล่อ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นเหตุให้ เกิดความเสียหายกับประชาชน หรือผู้ประกอบการ
ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังเกิดขึ้นเป็นคดีนี้แล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและทำการเยียวยาในความเดือดร้อน เสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม และโดยไม่ชักช้า
ดังนั้น ผลแห่งคำพิพากษาที่เกิดขึ้นดังกล่าว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ในความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ต่อเจ้าของร่วมอาคารชุด และบริษัท เพราะ หากหน่วยงานราชการผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่เห็นชอบและอนุมัติแล้วโครงการนี้จะไม่สามารถก่อสร้างได้ตั้งแต่แรก ซึ่งจะไม่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงอย่างที่เป็นอยู่
ทั้งนี้ บริษัทจะเร่งรีบดำเนินการในการเรียกร้องค่าเสียหายกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของร่วมอาคารชุด และบริษัทโดยเร็ว รวมทั้ง บริษัทจะดำเนินการประสานงานคณะกรรมการนิติบุคคลแอชตัน อโศก และท่านเจ้าของร่วมเพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเพื่อทวงถาม ความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ภายใน 14 วัน (สิบสี่) นับแต่วันนี้
บริษัทใคร่ขอยืนยันว่า การทำโครงการแอชตัน อโศก นั้น ได้มีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมาย รวมทั้งข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตต่าง ๆ รวมทั้งสภาพที่ดินของโครงการอย่างรอบคอบรัดกุม อีกทั้ง การพิจารณาอนุมัติในการทำโครงการต่าง ๆ ยังได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติ และภายใต้การกำกับ ควบคุม ๆ จากหน่วยงานของรัฐไม่ต่ำกว่า 8 หน่วยงาน
จึงเป็นที่เห็นประจักษ์และยืนยันได้ว่า บริษัทได้ดำเนินการไปด้วย ความสุจริต และชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้งแล้วทุกประการเท่าที่บริษัทจะทำได้ด้วยความเชื่อถือโดยสุจริตว่าการอนุมัติของหน่วยงานราชการทุกฝ่ายนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
บริษัทจึงใคร่ขอความเป็นธรรมจากทุก ภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ไขป้องกันมิให้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังเช่นคดีนี้ได้เกิดขึ้นอีก และเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐได้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็วด้วย
ทำความรู้จัก "แอชตัน อโศก"
"แอชตัน อโศก" เป็นโครงการอาคารชุด 50 ชั้น จำนวน 783 ยูนิต มูลค่าโครงการกว่า 6,400 ล้านบาท เปิดตัวในปี 2558 ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นที่สนใจมากในยุคนั้นเพราะแบรนด์แอชตัน ได้ขึ้นชื่อว่าสวย ทันสมัย ทำเลที่ตั้ง รูปลักษณ์ภายนอกโดดเด่น
ราคาเปิดตัวต่อตารางเมตรอยู่ที่ 200,000 บาท ด้วยราคาเริ่มต้น 6.9 ล้านบาท (อัปเดตปี 2564) ซึ่งต่อมาราคาดีดตัวขึ้นไปแตะถึงตารางเมตรละกว่า 300,000 บาท บนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 3 งาน เครื่องสาธารณูปโภคครบครัน โดยขนาดห้องมีตั้งแต่ 30 ตารางเมตร ถึง 64 ตารางเมตร
แอชตัน อโศก สร้างความตื่นตาให้กับวงการอสังหาฯไทยอย่างมาก ตั้งแต่ ทำเล ดีไซน์ และ Facilities (ส่วนกลาง) ภายใน เช่น มีสระว่ายน้ำระบบเกลือ ยาว 38 เมตร ห้อง Social Club ฟิตเนสหรู มองวิวกลางเมือง มีความหรูหราทันสมัยชวนอยู่อาศัย และนั่นทำให้ โครงการนี้ ได้รับการตอบรับในแง่ยอดขาย ทั้งในหมู่คนไทย คนต่างชาติ และ นักลงทุนที่มองเห็นโอกาสอย่างคึกคัก โดยใช้เวลาปิดการขายในเวลาไม่นาน
"แอชตัน อโศก" มีทั้งหมด 668 ยูนิต ราคารวม 5,653 ล้าน
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมนี้ ที่ตึกเรสซิเดนเชียลที่สร้างเสร็จแล้ว และศาลปกครองมีคำพิพากษาเช่นนี้ แต่เราก็ต้องเคารพคำพิพากษา
โดยรายละเอียดมี 580 ครัวเรือน ที่รับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว 668 ยูนิต จาก 700 กว่ายูนิต สุดท้ายก็ต้องเป็นการฟ้องร้องกันระหว่างผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาระหว่างเอกชนกับหน่วยงานราชการ อนันดาฯ ในฐานะเป็นผู้ร้องสอดร่วมกับผู้รับผลกระทบอีก 580 ครัวเรือน ต่างชาติใน 20 ประเทศ รวมประเทศไทยด้วยก็เป็น 21 ชนชาติในตึกนี้
สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ห้องชุดในโครงการแอชตัน อโศก มี 700 กว่ายูนิต มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท ส่งมอบไปแล้ว 668 ยูนิต มูลค่า 5,653 ล้านบาท แบ่งเป็น ลูกค้าคนไทย 438 ราย ลูกค้าต่างชาติ 142 ราย มูลค่าคงเหลือในมือ 828 ล้านบาท
จึงคิดเป็นความเสียหายในแอสเสทที่อนันดาฯ ถือหุ้นมีอยู่เพียง 250-300 ล้านบาทเท่านั้น หรือประมาณครึ่งหนึ่งของสต๊อกในโครงการ โดยบริษัทร่วมทุน “อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย” อนันดาฯถือหุ้น 51% มิตซุย ฟุโดซัง 49%
นายประเสริฐ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การพัฒนาโครงการแอชตัน อโศก ยืนยันว่าทำถูกต้องและสุจริต ดังนี้
1. แอชตัน อโศก ผ่านการขออนุญาตมาจาก 8 หน่วยงาน
2. มี 9 ใบอนุญาต
3. บริษัทขอความเห็นก่อนดำเนินการด้วย อย่างน้อย 8 หน่วยงานได้แก่
• กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอความเห็นจาก 1 หน่วยงาน คือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
• กระทรวงคมนาคม 1 หน่วยงาน จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
• กรุงเทพมหานคร (กทม.) 3 หน่วยงาน จากสำนักงานเขตวัฒนา, สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.), สำนักการโยธา
• กระทรวงมหาดไทย 3 หน่วยงาน จากสำนักงานที่ดินพระโขนง, กรมที่ดิน, กรมโยธาธิการและผังเมือง
4. ผ่านคณะกรรมการที่จะออกมาเป็น อช. ใบโฉนด 5 คณะกรรมการ
5. สิ่งสำคัญคือ มีโครงการที่คล้ายคลึงเหมือนๆ กันอีก 13 โครงการ ยังไม่นับโครงการที่ใกล้เคียงกันอีกเป็นร้อย ที่เป็นลักษณะขอเชื่อมทางกับหน่วยงานราชการ
6. บริษัทรับผิดชอบ ไม่ใช่เชื่อมทางฟรี มีการจ่ายค่าตอบแทนให้ รฟม.เกือบ 100 ล้านบาท
ด้านเฟซบุ๊ก วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ (Verapat Pariyawong) นักกฎหมายอิสระ ได้ตั้งข้อสังเกต ถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก (Ashton Asoke) ว่า ประเด็นสำคัญที่ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่เสียงข้างมากนำมาวินิจฉัยคือ ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการที่มาและเงื่อนไขของการออกเอกสารเกี่ยวกับการใช้ที่ดินและการก่อสร้างโครงการ
ไม่ใช่เพียงแต่ประเด็นขนาดของทางออกสู่ถนนสาธารณะ และศาลได้มีความกังวลว่าขนาดพื้นที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้และหากมีกรณีเพลิงไหม้จะก่อให้เกิดภัยอันตรายร้ายแรง พร้อมระบุว่า ข้อน่าสนใจคือในที่ประชุมใหญ่มี ตุลาการ เสียงข้างน้อย 19 ท่านที่เห็นแย้ง โดยเล็งเห็นถึงความสุจริตของประชาชนผู้ซื้อ และเป็นเจ้าของห้องชุดคอนโดในโครงการ
ตุลาการเสียงข้างน้อยจึงเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขผลคำพิพากษาให้มีเวลา 270 วัน สำหรับฝ่ายราชการที่ดำเนินการผิดพลาดไปดำเนินการขออนุญาต คณะรัฐมนตรีใหม่เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง ในขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อยอีก 1 ท่าน เห็นว่าการดำเนินการได้ทำโดยถูกต้องแล้ว
นายวีรพัฒน์ ตั้งคำถามต่อไปว่า เหตุใดศาลปกครองเสียงข้างมาก จึงไม่ใช้วิธีการตามแนวทางของเสียงข้างน้อย 19 เสียง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและไม่ต้องเกิดคำถามหรือความวิตกกังวลเรื่องการทุบทำลายโครงการที่จะส่งผลกระทบตามมาต่อประชาชนผู้ที่สุจริต หรือต้องเกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอันเป็นภาระต่อประชาชนตามมา