svasdssvasds

ลูกจ้างต้องรู้! ลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน ลาได้กี่วัน อย่าให้ใครมาละเมิดสิทธิ

ลูกจ้างต้องรู้! ลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน ลาได้กี่วัน อย่าให้ใครมาละเมิดสิทธิ

กฎหมายแรงงาน เป็นสิ่งที่คนทำงานต้องรู้เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิประโยชน์ของตัวเอง และเพื่อป้องกันไม่ให้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นกฏหมายเกี่ยวกับวันลา ลากิจ ลาพักร้อน ลาป่วย ลาคลอด ลาหยุดได้กี่วัน รวบรวมไว้ให้ครบที่นี่

 จากกรณีดราม่าสนั่นโซเชียล ลูกจ้างสาวรายหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊ก โดยนำภาพแชทบทสนทนากับหัวหน้างาน กรณีขอลางานเนื่องจากแม่ป่วยหนักและใกล้จะเสียชีวิต แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ลางาน แถมบอกเสร็จธุระแล้วให้มาเขียนใบลาออก ขณะที่ชาวเน็ตตามหาวาร์ปหัวหน้า พาลรุมถล่มเพจรีสอร์ทเขาใหญ่จนต้องปิดคอมเมนต์ 

 ทั้งนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 34 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลากิจเพื่อกิจธุระอันจำเป็น เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 3 วันทำงาน

 เนื่องจากการลากิจธุระอันจำเป็น เป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดสิทธิให้ลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิลากิจได้ แม้จะเป็นลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างประเภทอื่น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเท่าเทียมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• สาวขอลางานดูใจแม่ หัวหน้าไม่อนุญาต สุดท้ายแม่ตาย บอกให้เขียนใบลาออก

• เปิดนโยบายค่าแรง ในเลือกตั้ง 2566 วันแรงงาน 1 พ.ค. ค่าแรงขั้นต่ำจะขึ้นไหม ?

• พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ หนุน WFH ไม่ต้องรับสายนายจ้าง หลังเลิกงานได้

สิทธิการลา ลาขั้นต่ำได้กี่วัน

ลาป่วยได้กี่วัน

 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 32 ประกอบมาตรา 57 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยจะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี ซึ่งการลาป่วยตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไปลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง

 ดังนั้นหากเรายังใช้สิทธิ์ลาป่วยไม่ถึง 30 วันทำงานต่อปี และเป็นการลาที่ถูกต้องตามระเบียบของบริษัท บริษัทจะไม่มีสิทธิ์หักค่าจ้างในวันที่ลาป่วยนั้น

ลากิจได้กี่วัน

 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 34 ประกอบมาตรา 57/1 กำหนดให้ลูกจ้างสามารถลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี โดยมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 3 วันทำงานต่อปี   

 ดังนั้นในทางปฏิบัติองค์กรสามารถกำหนดให้สิทธิ์พนักงานลากิจกี่วันก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี ทั้งนี้ หากพนักงานใช้สิทธิ์ลากิจครบไปแล้ว และต้องการลากิจเพิ่ม องค์กรอาจแนะนำให้พนักงานใช้วันลาพักร้อนแทนก็ได้

 

ลาพักร้อนได้กี่วัน

 วันลาพักร้อนเป็นภาษาติดปากที่มักจะเรียกกันเอง แต่ในทางกฎหมายจะเรียกว่า “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” โดยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 30 ประกอบมาตรา 56 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิ์หยุดพักผ่อนประจำปีได้ ปีละไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานโดยได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติ

 ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวหรือตามที่บริษัทจะตกลงกับพนักงานก็ได้ ในทางปฏิบัติหลายบริษัทมักให้พนักงานเป็นคนกำหนดวันที่จะหยุดเองแล้วขออนุมัติจากบริษัท นอกจากนี้ บริษัทอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้พนักงานมากกว่า 6 วันทำงานก็ได้ หรือในกรณีที่เราใช้สิทธิ์ไม่ครบตามจำนวนวันที่ได้รับสิทธิ์ บริษัทก็อาจอนุญาติให้สามารถเก็บสะสมและนำไปรวมเข้ากับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีต่อไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริษัทและพนักงานจะตกลงกัน

ลาคลอดได้กี่วัน

 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 41 ประกอบมาตรา 59 กำหนดให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์สามารถลาคลอดบุตรได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วันโดยให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย สิทธิการลาคลอดนี้พนักงานสามารถที่จะลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร การคลอดบุตรและพักฟื้นหลังคลอดบุตร โดยพนักงานจะได้รับค่าจ้างจากองค์กรไม่เกิน 45 วัน และอาจเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากประกันสังคมได้ในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนฐานเฉลี่ย (ถ้าเงินเดือนสูงกว่า 15,000 บาทต่อ จะคิดจาก 15,000 บาทเท่านั้น) เป็นระยะเวลา 90 วัน  นอกจากเงินก้อนนี้แล้วยังมีสิทธิ์จากประกันสังคมอื่นๆ ที่สามารถเบิกได้อีก เช่น ค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร เป็นต้น โดยสามารถเช็คสิทธิ์เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมหรือสายด่วน 1506

ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างบอกเลิกจ้าง ทั้งๆ ที่ลูกจ้างไม่มีความผิด 

ค่าชดเชยแบ่งออกไปตามอายุงาน ดังนี้

• ลูกจ้างที่ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี มีสิทธิ์จะได้รับค่าชดเชย 30 วัน

• ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย 90 วัน

• ลูกจ้างที่ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย 180 วัน

• ลูกจ้างที่ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย 240 วัน

• ลูกจ้างที่ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย 300 วัน

• ลูกจ้างที่ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย 400 วัน

โดยค่าชดเชยทุกอย่างที่ลูกจ้างพึงจะได้รับ นายจ้างจะต้องจ่ายให้กับลูกจ้างภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่เลิกจ้าง

ที่มา : กระทรวงแรงงาน , พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 7

related