“วันนอร์” รอถกวิป 3 ฝ่าย วันพุธนี้ เลื่อนโหวตนายกฯ หรือไม่ “ชัยธวัช” มองเป็นผลดี 8 พรรคร่วมฯ หลังผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาล รธน. ตีความเสนอโหวตแคนดิเดตนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่ รับกังวลแคนดิเดตฯหลักของ “เพื่อไทย” ไม่ผ่าน จนต้องรวมเสียงพรรคอื่น ขณะที่ สว.ไม่ขัดเลื่อนโหวตนายกฯรอบ3
โหวตนายกฯรอบ3 : นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาขอให้วินิจฉัยกรณีที่ประชุมรัฐสภาลงมติข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยไม่สามารถเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ พร้อมขอให้ศาลฯ มีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีไปก่อน เรื่องนี้ให้ฝ่ายกฎหมายของสภา จะประชุมกัน วันที่ 24 กรกฎาคมนี้ เพื่อสรุปผล และแจ้งให้ตนทราบ
จากนั้นจะนำเรื่องไปหารือกับวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 26 กรกฎาคม รวมถึงต้องฟังผลการหารือของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล มาประกอบการพิจารณาด้วย โดยในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ อาจจะชี้แจงรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในการประชุมทีมกฎหมายของรัฐสภา เพื่อหารือถึงการจะต้องเลื่อนการประชุม เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้หรือไม่ ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะให้เลื่อนการประชุม เพื่อชะลอกระบวนการออกไปก่อนหรือไม่ โดยทีมกฎหมายขอฟังความเห็นในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย วันที่ 26 กรกฎาคมนี้ก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เช็กสัญญาณขั้วรัฐบาลเก่า 5 พรรค จุดยืนเป็นอย่างไร เมื่อเพื่อไทยตั้งรัฐบาล
มติ 8 พรรคร่วมแถลงล่าสุด! ก้าวไกลถาม "ลดเพดานม.112" คือลดอย่างไร?
ด่วน! ผู้ตรวจการฯ มีมติยื่นศาลวินิจฉัย ปมเสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำขัดรธน.หรือไม่
ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อบังคับที่ 41 ของรัฐสภา ในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำได้หรือไม่ ว่า ตอนนี้ต้องรอดูว่าจะส่งผลถึงการเลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปหรือไม่
ซึ่งความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาในการชะลอการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปด้วย จนกว่าศาลฯจะมีคำวินิจฉัย โดยในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ค.66) คาดว่าในการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะมีการหยิบยกเรื่องนี้มาหารือกัน แล้ววันพุธ (26 ก.ค.66) จะมีการประชุมวิป 3 ฝ่าย ที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะเรียกตัวแทนของทุกฝ่ายมาหารือกัน โดยคาดว่าจะเป็นวันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินมาพิจารณา
เมื่อถามว่า มีผลดีกับพรรคก้าวไกลหรือไม่ เนื่องจากอาจเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซ้ำได้ นายชัยธวัช กล่าวว่า เป็นผลดีโดยรวม ไม่ใช่เฉพาะกับพรรคก้าวไกลเท่านั้น โดยเฉพาะฝั่ง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีว่าจะเป็นใครซ้ำได้
“เท่ากับว่าเรามีโอกาส ความเป็นไปได้ที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำกันได้อีก สามารถที่จะได้รวบรวมเสียงเพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นต้องครั้งเดียวและต้องเปลี่ยนตัวเลย ก่อนหน้านี้ก็มีความกังวลปฎิเสธไม่ได้ เช่น ถ้าเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหลักของพรรคเพื่อไทย แล้วครั้งเดียวไม่ผ่าน จะหมดโอกาสอีกหรือไม่ อาจจะเป็นเหตุผลที่จะบอกว่าจำเป็นจะต้องดึงพรรคนั้นพรรคนี้เข้ามาร่วมเพื่อให้ชัวร์ ตรงนี้อาจจะไม่จำเป็นอีกแล้ว หากมีการปลดล็อกออกไป”
เมื่อถามว่าหากปลดล็อกแล้ว แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะย้ายจากพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นพรรคก้าวไกลใช่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกันเรื่องนี้ แต่ตนพูดโดยรวมว่าแม้เป็นแคนดิเดตฯ ของพรรคเพื่อไทยก็จะเป็นเรื่องดีที่ไม่ต้องติดล็อกตรงนี้
ส่วนการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแนบท้ายคำร้องขอให้ชะลอคำสั่งศาลฯออกไป จะเป็นผลดีทำให้รวมเสียงสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้เพิ่มหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่างน้อยก็มีโอกาสที่จะลองดูว่าการที่จะเสนอแคนดิเดตฯ เปลี่ยนตัวจากเพื่อไทยแล้วจะได้มีเสียง สว. เพิ่มขึ้นขนาดไหน จะได้ประเมินถูก และหากเสนอซ้ำได้ ก็เป็นโอกาสที่จะหาเสียงเพิ่มจากฝั่งส.ว. และฝั่งส.ส.
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือ วิปวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามติรัฐสภาที่ไม่ให้เสนอนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมขอให้สั่งรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนว่า สว.ไม่ขัดข้อง ที่จะเลื่อนหารเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ออกไป
เพราะการกำหนดวันประชุมรัฐสภาในวันดังกล่าว อาจจะกระทบการปฏิบัติภารกิจของ สส. และสว.ที่ต้องร่วมกิจกรรมในพื้นที่ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ดังนั้น หากการประชุมยืดเยื้อ อาจจะกระทบการเดินทางได้ และหากจะเลื่อนออกไป ก็ถือว่า เลื่อนไปเล็กน้อย หรือวันที่ 3 สิงหาคม ก็สามารถนัดประชุมใหม่ได้ไม่ล่าช้าเกินไป
นายสมชาย ยังอ้างอิง ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ในข้อที่ 5 ที่ประธานรัฐสภา สามารถเลื่อนการประชุมได้ เหมือนในกรณีที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 หรือประธานรัฐสภา สามารถปรึกษาหารือกับวิป3 ฝ่ายที่นัดประชุมวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ก่อนได้
นายสมชาย ยังกล่าวถึงคำร้องของผู้ตรวจการฯ ที่ขอใหห้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งรัฐสภาชะลอการเลือกนายกรัฐมนตรีไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า เป็นเหตุที่จะทำให้เลื่อนการประชุมได้ แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา เช่น ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของนายพิธานั้น
การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณานายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ไม่ได้เลื่อนออกไป ดังนั้น หากเทียบเคียงการประชุมแล้ว อาจจะเดินหน้าต่อไปจนกว่าที่ศาลจะมีคำสั่งก็ได้ หรือจะใช้เป็นเหตุให้เลื่อนออกไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งก็ได้ พร้อมเห็นว่า ในกระบวนการยื่นเรื่องนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ อาจรับเรื่องไว้พิจารณาสัปดาห์นี้ไม่ทัน และสัปดาห์หน้า ตามการประชุมสัปดาห์ ยังเป็นวันหยุดราชการ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ อาจพิจารณาในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ และกระบวนการพิจารณาเป็นเรื่องทางกฎหมายอาจใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน