svasdssvasds

ธาริต อดีตอธิบดีดีเอสไอ ร้องศาล คืนความยุติธรรม 99 ศพ คดีสลายชุมนุม ปี 2553

ธาริต  อดีตอธิบดีดีเอสไอ ร้องศาล คืนความยุติธรรม 99 ศพ  คดีสลายชุมนุม ปี 2553

“ธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีตอธิบดีดีเอสไอ แถลงพร้อม ติดคุกน้อมรับคำพิพากษาศาลฎีกาคดี “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ฟ้องกล่าวหาฆ่าประชาชน สลายชุมนุม ปี 2553 พร้อมเปิดความในใจ 13 ปี ไม่เคยพูดที่ไหน ถูกข่มขู่หากทำคดี 99 ศพ จะรัฐประหารปี 2557

นาย ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ พร้อมด้วยทนายความ และ ตัวแทนญาติของผู้บาดเจ็บ และ เสียชีวิต ร่วมกันแถลงถึงคดีที่ถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ยื่นฟ้องนายธาริต พร้อมกับชุดพนักงานสอบสวนในคดีการเสียชีวิตของประชาชน 99 คน จากเหตุความรุนแรงทางการเมืองปี 2553 ซึ่งคดีถึงชั้นศาลฎีกาแล้ว และ นายธาริตขอเลื่อนฟังคำพิพากษามาถึง 10 ครั้ง โดยศาลได้นัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้

นายธาริต ยืนยันว่าวันที่ 10 กรกฎาคมนี้จะไปฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง และพร้อมรับฟังคำพิพากษาว่า จะไปในทิศทางใด และหากจะต้องถูกต้องโทษจำคุกก็พร้อมเข้าไปในเรือจำเช่นเดียวกับคดีที่ถูกนายสุเทพ ฟ้องคดีสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง ซึ่งต้องโทษจำคุก 13 เดือนมาแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

นายธาริต ระบุว่า ได้ส่งคำร้องถึงศาลฎีกา ผ่านศาลอาญาเพื่อให้พิจารณาส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการฟ้องดำเนินคดีของโจทก์ทั้ง 2 ข้อกล่าวหา ตามมาตรา 157 และ 200 ขั้นต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เนื่องจากคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงความไม่สงบทางการเมืองจนเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง และในต่างประเทศถือว่ากฎหมายทั้ง 2 มาตรา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นข้อหาที่เหวี่ยงแหกับผู้ถูกกล่าวหา กระทบสิทธิ์เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะไม่เคยระบุถึงพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาว่าไปทำอะไรให้ชัดเจน 

โดยมีการตั้ง ศอฉ.มาควบคุมสถานการณ์ และ ออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยผอ.ศอฉ. อย่างชัดเจนถึง 5 ฉบับ ให้ทหารใช้อาวุธจริงควบคุมสถานการณ์จนทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และเสียชีวิต 99 คน คดีนี้ ในฐานะอดีตอธิบดีดีเอสไอ ก็ได้ดำเนินคดีกับโจทก์ฐานฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และ 289 แต่กลับถูกฟ้องกลับฐาน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษทางอาญา ซึ่งเห็นว่าข้อหานี้ขัดแย้งต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ถูกดำเนินคดี

สำหรับคดีนี้ นายธาริตยอมรับว่า มีความจำเป็นต้องเลื่อนฟังคำสั่งคดีของศาลฎีกาหลายครั้ง 4 ประการ คือ

1. มีการส่งหมายศาลไม่ถึงภูมิลำเนาของจำเลย

2. มีอาการเจ็บป่วยเป็นโควิด-19 ถึง 2 ครั้ง และป่วยเป็นเส้นเหลืออุดตัด และต้องผ่าตัดไตถึง 2 ข้าง

3. ญาติของผู้เสียชีวิตยื่นเรื่องขอเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ซึ่งไม่ใช่คู่ขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย แต่ต้องการเข้ามาเป็นคู่ความในฐานะผู้เสียหาย ซึ่งต้องรอให้ศาลฎีกาพิจารณาว่าจะรับเข้าได้หรือไม่

4. คือกำลังยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าข้อกฎหมายที่ฟ้องนั้นมีความขัดแย้งหรือไม่ และอยู่ระหว่างรอศาลฎีกามีคำสั่ง ซึ่งยืนยันว่าการขอเลื่อนฟังคำสั่งแต่ละครั้งเป็นไปโดยชอบของกฎหมาาย ไม่มีเจตนาหลบเลี่ยงไปฟังคำพิพากษา

ธาริต  อดีตอธิบดีดีเอสไอ ร้องศาล คืนความยุติธรรม 99 ศพ  คดีสลายชุมนุม ปี 2553

นายธาริต ยังระบุว่า คดีนี้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ยกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาเป็นลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 4 คน โดยให้เหตุผลว่าการที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยนั้นไม่เป็นความผิด เพราะเป็นการออกคำสั่งให้ทหารใชอาวุธจริง เนื่องจากต้องควบคุมสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง คำสั่งดังกล่าวจึงสมควรแก่เหตุแล้ว ซึ่งนายธาริต ระบุว่า หากศาลฎีกา มีความเห็นพ้องกับศาลฎีกา ก็จะแสดงให้เห็นได้ว่ากระบวนการฟ้องดำเนินคดีเรียกร้องความเป็นธรรมของญาติผู้เสียชีวิตก็จะสิ้นสุดลง และคำพิพากษาศาลฎีกาก็จะเป็นบรรทัดฐานในการพิพากษาของคดีต่อไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากเห็นว่าเป็นการออกคำสั่งให้ดำเนินการกับผู้ชุมนุมชอบด้วยกฎหมายแล้ว

นาย ธาริต ยังเห็นว่า การยกฟ้องคดีนี้ในศาลชั้นต้น แต่ในชั้นศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายกฟ้องนั้น เป็นช่วงที่ประธานศาลอุทธรณ์ มีกระแสข่าวว่าไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. และ ช่วงที่คดีถึงชั้นศาลฎีกา ก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาอีก จึงมีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งในการถูกตัดสินคดี แต่ก็พร้อมจะรับคำพิพากษาในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ 

ธาริต เปิด ความในใจ 13 ปี ทหารสั่งไม่ให้เอาผิดคดี 99 ศพ

นาย ธาริต ยังอ้างว่า หลังจากเกิดเหตุการสลายชุมนุม ขณะที่เป็นอธิบดีดีเอสไอ มีทหารนายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เรียกไปเจรจาไม่ให้ดำเนินคดี 99 ศพ โดยเรียกไปพูดว่า “อย่าดำเนินคดี 99 ศพนะ ถ้าไม่ทำตาม อั๊วจะปฏิวัติ และจะโดยย้ายเป็นคนแรก” หลังจากนั้นนายธาริต และนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด ก็ถูกสั่งย้ายจากตำแหน่งเดิม และหากไม่ทำคดีนี้ก็จะต้องมีคนอื่นทำอย่างแน่นอน และเห็นว่าครั้งนี้เป็นการข่มขู่ครั้งแรกในการทำคดีนี้ ซึ่งไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน 

ธาริต  อดีตอธิบดีดีเอสไอ ร้องศาล คืนความยุติธรรม 99 ศพ  คดีสลายชุมนุม ปี 2553

สำหรับคดีการเสียชีวิตของ 99 คน ยังเหลืออายุความอีก 7 ปี นายธาริต เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่งตั้งคณะกรรมาธิการอิสระขึ้นมาแบบระดับ Senior Super Board เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดและให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมด แม้ว่าที่ผ่านมาจะเคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาในกรณีนี้แล้วก็ตาม 

นายธาริต ระบุว่าที่เพิ่งออกมาเคลื่อนไหว และแถลงต่อสื่อมวลชนนั้นเนื่องจากด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย หากออกมาพูดก็เห็นว่าจะยิ่งทำให้แย่ลง และ เห็นว่ากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ที่จะสามารถให้ความเป็นธรรมได้ และหากถูกตัดสินจำคุก ก็ยืนยันว่าจะไม่ใช่การติดคุกฟรี จะไม่มีแค่ตัวเองเท่านั้นที่จะต้องติดคุก

ขณะที่นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของนางสาวกมลเกด อัคฮาด หรือ น้องเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เชื่อว่าสิ่งที่นายธาริตพูดวันนี้ เป็นสิ่งที่อัดอั้นอยู่ภายในใจนายธาริตมานาน 13 ปี ซึ่งเมื่อได้รับฟังก็ทำให้ยิ่งมั่นใจว่า สิ่งที่คิดมาตลอดนั้นไม่ได้คิดไปเอง โดยเชื่อว่าการรัฐประหารปี 2557 ทำให้กระบวนการยุติธรรมพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือนั้น จะมีผลต่อคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม ปี 2553 เพราะเจ้าหน้าที่รัฐต้องการปกปิดคดีนี้ เนื่องจากรู้ว่าตัวเองผิดที่ไปฆ่าคนตามคำสั่งของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ดังนั้น ตลอดเวลาที่ตนต่อสู้คดีมาหลังการรัฐประหารปี 2557 จึงถูกรังแกโดยเจ้าหน้าที่รัฐมาตลอด

และหากจะมีขบวนการฟอกขาวให้กับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ อยากฝากไว้ว่า เหตุการณ์ปี 2553 มีคนตายหลักร้อย และคนเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ซึ่งคนทั่วโลกมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วบุคคลในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยจะมองเห็นหรือไม่ และก็ขอฝากถึงรัฐบาลใหม่ด้วยว่า ขอให้หันมาให้ความสนใจ และดำเนินการทำให้ความจริงในคดีนี้ปรากฏขึ้นด้วย

สำหรับคดี ของน้องเกด นางพะเยาว์ ระบุว่า หลังจากมีการชี้มูลการเสียชีวิตแล้ว คดีก็เงียบหายไป จึงไปติดตามกับอัยการพิเศษคดีพิเศษ และได้รับแจ้งว่า ส่งสำนวนกลับไปที่ดีเอสไอนานแล้ว แต่เมื่อไปตามคดีที่ดีเอสไอ จึงเพิ่งรู้ว่าดีเอสไอชุดใหม่ หลังการรัฐประหารไม่ได้ทำคดีให้ต่อ จึงร้องให้มีการฟ้องทหารจำนวน 8 นาย ที่มีภาพปรากฏถืออาวุธปืนอยู่บนรางรถไฟฟ้า 

ดีเอสไอ จึงได้ส่งสำนวนให้อัยการศาลทหารเป็นผู้พิจารณาสำนวน และท้ายสุดอัยการศาลทหารก็มีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐาน ทำให้คดีของน้องเกด ต้องตกไป ญาติจึงต้องเตรียมไปฟ้องร้องคดีใหม่ที่ศาลอาญา

ส่วนนายณัทพัช อัคฮาด พี่ชายของนางสาวกมลเกด ที่ผ่านมา 13 ปี ได้พยายามเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่ยิ่งเรียกร้องกลับถูกดำเนินคดีกลับ และที่ผ่านมาถูกดำเนินคดีแล้ว 44 คดี รวมทั้งมาตรา 116 ข้อหายุงยง ปลุกปั่น อีกด้วย 

นายธาริต กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ญาติจะฟ้องคดีด้วยตนเองนั้น ก็จะทำได้ยาก เพราะต้องหาหลักฐานเองทั้งหมด ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องดำเนินคดีให้ประชาชน

ด้านนางอุบลวดี จันทร พี่สาวของนายเสน่ห์ นิลเรือง ที่เสียชีวิตบริเวณแยกบ่อนไก่ กล่าวว่า น้องชายไม่ได้เป็นผู้ร่วมชุมนุมแต่เสียชีวิตขณะกำลังเดินเข้าบ้านที่อยู่ในแฟลตตำรวจ สน.ลุมพินี ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการไต่สวนมูลฟ้อง และก็หวังว่า หลังจากนี้สถานการณ์จะดีขึ้นและอยากให้นายธาริตไม่ต้องถูกพิพากษาจำคุก จะได้มาช่วยเหลือญาติในการต่อสู้คดีต่อไป

ด้านนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความที่ทำคดีให้กับญาติผู้เสียชีวิต ระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการยื่นฟ้องไป 99 คน แต่เพิ่งมีการไต่สวนการเสียชีวิตไปเพียง 27 คดี และยังมีคดีที่ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนอีกจำนวนมาก

related