svasdssvasds

ไข้เลือดออกน่าห่วง! ป่วยพุ่ง 1.9 หมื่น เสียชีวิต 17 รายแล้ว พบเด็กป่วยเพียบ

ไข้เลือดออกน่าห่วง! ป่วยพุ่ง 1.9 หมื่น เสียชีวิต 17 รายแล้ว พบเด็กป่วยเพียบ

สถานการณ์ไข้เลือดออกระบาดน่าห่วง! ป่วยพุ่งกว่า 1.9 หมื่น เสียชีวิต 17 รายแล้ว มีแนวโน้มระบาดหนัก พบเด็กวัยเรียนมีอัตราป่วยสูง แนะประชาชนช่วยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค มีอะไรบ้างดูเลย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 7 มิถุนายน พบผู้ป่วย 19,503 ราย เสียชีวิต 17 ราย 

กรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่าโรคไข้เลือดออกจะกลับมาระบาดอีกครั้งปี 2566 ตามวงรอบของปีที่จะระบาด และสถานการณ์โรคไข้เลือดออกระยะนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก เพราะระยะนี้มีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังค้างในภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน กรมควบคุมโรค และกระทรวงศึกษาธิการ ขอความร่วมมือสถานศึกษาทั่วประเทศ อสม. และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ร่วมมือกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกสัปดาห์ เน้นพื้นที่บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่พบลูกน้ำยุงลายสูงสุด รวมทั้งฝากเตือนประชาชนขอให้ระวังป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

จากรายงานล่าสุดของกรมควบคุมโรค ระบุจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกปี 2566 มากกว่าปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 3.8 เท่า กลุ่มอายุที่พบป่วยสูงสุด ได้แก่ อายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี 

จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุดใน 4 สัปดาห์ล่าสุดคือ จ.ตราด อ.เกาะช้าง บ่อไร่ แหลมงอบ คลองใหญ่ จ.น่าน อ.สองแคว ทุ่งช้าง เชียงกลาง จ.จันทบุรี อ.เมือง ท่าใหม่ มะขาม จ.แม่ฮ่องสอน อ.ขุนยาวม แม่ลาน้อย และจ.สตูล อ.เมือง รวมระบาดใน 348 อำเภอ 71 จังหวัด ซึ่งประเมินความเสี่ยงพบมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกภาค

ส่วนปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยที่เสียชีวิตคือ ไปรักษาที่โรงพยาบาลช้าเกินไป มีภาวะอ้วน ได้รับยากลุ่ม NSAIDs มาก่อน และมีโรคประจำตัว

นายอนุชา กล่าวอีกว่า รัฐบาลโดยกรมควบคุมโรคขอความร่วมมือประชาชนช่วยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ 

  • เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก 
  • เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ 
  • เก็บขยะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 

นอกจากนี้ ต้องช่วยกันพัฒนาสิ่งแวดล้อม ป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย 7 สถานที่หรือ 7 ร. ได้แก่ 

  • โรงเรือน (บ้าน) 
  • โรงเรียน 
  • โรงพยาบาล 
  • โรงแรม/รีสอร์ท 
  • โรงงาน/อุตสาหกรรม 
  • โรงธรรม (วัด/มัสยิด/ศาสนสถาน) 
  • สถานที่ราชการ 

สถานที่ดังกล่าวมีประชาชนรวมตัวกันจำนวนมาก ถือเป็นสถานที่เสี่ยงมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก และจากผลการสำรวจ พบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายสูงสุดในกลุ่มโรงเรียนและโรงธรรม 

อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว ภาวะอ้วน ผู้สูงอายุ และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด ถ้ามีไข้สูงลอย ร่วมปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน 

รวมถึงยาชุด มีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงเสียชีวิต หากมีไข้ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้

related