จากกระแสร้อน "หมอลาออก" ยังไม่จบ สหภาพแพทย์ผู้ปฎิบัติงาน แถลงการณ์ ชี้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานมายาวนาน ทำงานเกือบ 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กรณี สธ.เคยเชิญ รัฐมนตรี หาทางออก แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม กรณีแพทย์อินเทิร์น "หมอจบใหม่ลาออก" หรือแพทย์ที่จบใหม่และต้องไปเพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลรัฐลาออก โดยได้ระบายถึงภาระการทำงานที่หนักเกินไป งานหนัก คุณภาพชีวิตย่ำแย่ (อยู่เวรเยอะ, ไม่ได้พักผ่อน) งานเกินหน้าที่ (งานคุณภาพ, งานบริหาร) สวัสดิการแย่ (บ้านพัก) เงินออกช้า (3 เดือนขึ้นไป) ค่าตอบแทนไม่คุ้มความเสี่ยง จนเกิดคำถามว่า เพราะเหตุใดกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่ได้แค่เฉพาะหมอ แต่รวมถึงหน้าที่อื่นๆ ในโรงพยาบาล พยาบาล, เภสัช, เทคนิคการแพทย์, กายภาพ
ทั้งนี้การที่ "หมอจบใหม่ลาออก" จากโรงพยาบาลต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่สาขาวิชาชีพ "แพทย์" กำลังขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก โดยอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรไทย "แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,500 คน"
ล่าสุด สหภาพแพทย์ผู้ปฎิบัติงาน ออกแถลงการณ์ ตอกกลับ กระทรวงสาธารณสุข แก้ไขปัญหาโดยปราศจากความชัดเจน อีกทั้งยังไม่ได้พูดถึงปัญหาหลัก เช่น การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ความโปร่งใสในการจัดสรรภาระงาน หรือการเพิ่มการเข้าถึงการบริการสุขภาพในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาล ถือเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังเป็นอย่างมาก
สหภาพแพทย์ผู้ปฎิบัติงาน ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
ขอบคุณการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการตอบสนองต่อกระแส หมอลาออก และเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบัน ในด้านปัญหาการขาดแคลนแพทย์, การสูญเสียแพทย์ออกจากระบบ, และการให้บริการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง จากสาเหตุภาระงานมากเกินศักยภาพ ทั้งจำนวนชั่วโมงที่ติดต่อนานกันสูงสุดมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมถึงค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมกับภาระงานที่แพทย์ต้องรับผิดชอบ ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ยอมรับถึงปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ แก่สาธารณชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• หมอธีระวัฒน์ ชำแหละปัญหา "หมอจบใหม่ลาออก" ชี้ช่วงใช้ทุนคือช่วงทรมานที่สุด
• สรุปให้ ปัญหาขาดแคลนแพทย์ "หมอจบใหม่ลาออก" โหมงานหนักชั่วโมงทำงานมาก
• กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับ "หมอขาดแคลน" ทำงานโหลดจริง เผยจบใหม่ลาออกกว่า 900 คน
การทำงานเป็นระยะเวลาต่อเนื่องมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วย ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางภาครัฐได้มองข้ามความสำคัญ
ทำให้ปัญหาส่วนนี้ ฝังรากลึกในระบบสาธารณสุขไทยมาเป็นระยะเวลานาน การแถลงถึงข้อจำกัด และการแก้ไขปัญหาโดยปราศจากความชัดเจน อีกทั้ง ยังไม่ได้พูดถึงปัญหาหลักอย่างการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร การแก้ไขปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการจัดสรรภาระงาน หรือการเพิ่มการเข้าถึงการบริการสุขภาพในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาล ถือเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ได้พยายามเชิญรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้าร่วมการประชุม และหาทางออกร่วมกันจากหลายภาคส่วน แต่ไม่ได้รับการตอบกลับมาแต่อย่างใด จนถึงวันนี้ พวกเราแพทย์ กลับได้คำตอบเพียงว่า ปัญหาเหล่านั้นอยู่นอกเหนือความสามารถของกระทรวง ที่จะปรับเปลี่ยนเรื่องค่าตอบแทน และตำแหน่งเพิ่มเติมที่เหมาะสมให้กับแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่งในฐานะผู้บริหารระบบสาธารณสุขของประเทศ
ทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานขอยืนหยัดเคียงข้างแพทย์ผุ้ปฏิบัติงานทุกท่าน ไม่ว่ากี่รัฐบาลจะเปลี่ยนผ่าน เราจะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและการกดขี่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนกว่าวิชาชีพของพวกเรา จะสามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ โดยปราศจากความกังวลและแรงกดดันจากการทำงาน ที่ถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ ทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขคนถัดไป จะเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ไม่ยึดติดกับกฏเกณฑ์ที่ขัดขวางการพัฒนาวงการแพทย์และระบบสาธารณสุขไทย โดยยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้ง หยุดเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วย คืนความเป็นมนุษย์ให้แพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพ