svasdssvasds

แถลงการณ์ 'วันเสรีภาพสื่อฯโลก' เสรีภาพในการแสดงออก คือบ่อเกิดสิทธิทั้งปวง

แถลงการณ์ 'วันเสรีภาพสื่อฯโลก' เสรีภาพในการแสดงออก คือบ่อเกิดสิทธิทั้งปวง

แถลงการณ์ร่วม 3 องค์กรสื่อ 'วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 2566' เรียกร้อง 7 ข้อให้ทุกฝ่ายร่วมปกป้องคุ้มครองเสรีภาพสื่อและเสรีภาพประชาชน ย้ำ‘เสรีภาพในการแสดงออก คือบ่อเกิดสิทธิทั้งปวง’

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  ออกแถลงการณ์ร่วมเนื่องใน "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (Word Press Freedom Day) ประจำปี 2566" เรียกร้อง 7 ข้อให้ทุกฝ่ายร่วมปกป้องคุ้มครองเสรีภาพสื่อและเสรีภาพประชาชน

แถลงการณ์ระบุว่า องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (Word Press Freedom Day)” เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อมวลชน

ปี 2566 นี้ ยูเนสโก้ได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์ไว้ว่า “Freedom of expression as a driver for all other human rights” หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ใจความว่า “เสรีภาพในการแสดงออก คือบ่อเกิดแห่งสิทธิมนุษยชนทั้งปวง”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

หมายความว่า เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือประชาชน ล้วนเป็นสิทธิพื้นฐานที่สมควรได้รับการปกป้องคุ้มครอง สอดคล้องกับหลักการ “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” ที่องค์กรวิชาชีพสื่อได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติมาโดยตลอดเช่นกัน

เนื่องจาก “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” ประจำปี 2566 อยู่ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม องค์กรวิชาชีพสื่อตามรายนามในแถลงการณ์ จึงขอใช้โอกาสนี้ เรียกร้องไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะเข้าทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรในอนาคตอันใกล้นี้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. คุ้มครองและพิทักษ์ไว้ซึ่งเสรีภาพการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพสื่อ เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองที่สงบ สันติ และปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

2. ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน และแก้ไขปัญหาการใช้กฎหมายปิดปากสื่อและประชาชน หรือที่เรียกว่า SLAPP (สแลป)

3. สร้างกลไกตรวจสอบและเอาผิดผู้ที่คุกคามสื่อหรือใช้ความรุนแรงต่อคนทำงานสื่อได้อย่างแท้จริง เพื่อขจัดวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล (culture of impunity) 

4. ไม่นำเอา “ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ฉบับที่ตกไปแล้วในรัฐสภาชุดก่อน ขึ้นมาพิจารณาอีกในอนาคต 

5. สนับสนุนกลไกการกำกับดูแลกันเองในวงการสื่อมวลชน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นอิสระ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ และส่งเสริมจริยธรรมสื่อควบคู่ไปกับเสรีภาพสื่อพร้อมๆกัน 

ท้ายสุดนี้ เราขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนๆ สื่อมวลชนทุกแขนง ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีจริยธรรมและคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน ร่วมต่อสู้เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ และคัดค้านการลิดรอนเสรีภาพ ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นใครหรือฝ่ายใดก็ตาม

ที่มา : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

 

related