ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโรคโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย
อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า มีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย เพิ่มขึ้น 58% และ 36% ตามลำดับ มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย และล้วนเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วนานเกินกว่า 3 เดือน จึงเรียกร้องให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
นอกเหนือจากความวิตกถึงสถานการณ์โควิดที่คาดพุ่งสูงขึ้นช่วงสงกรานต์ สังคมไทยยังกำลังวิตกถึงการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 หรือ “อาร์คตูรุส” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในการสังเกตการณ์ขององค์การอนามัยโลก
นอกจากการศึกษาถึงการป้องกันที่จะเกิดในอนาคตทั้งมิติการแพทย์และสาธารณสุข สังคมและเศรษฐกิจ สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการตั้งรับคือการย้อนกลับไปทบทวนอดีต เพื่อตั้งหลักรับมือสถานการณ์
เมื่อนึกย้อนกลับไปในปี 2019 เราจะพบโลกเต็มไปด้วยความสับสน ตื่นตระหนก ในตอนนั้นเรายังไม่พบวิธีการรับมือกับโรคระบาด ไทยเป็นประเทศแรกนอกประเทศจีนที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ก่อนที่เราจะใช้คำว่า ‘โรคโควิด-19’ ในเวลาต่อมา เครื่องบินหยุดบิน ดนตรีไม่บรรเลง ร้านค้าปิดทำการ ทุกคนสวมหน้ากาก กักตัวเองอยู่ในบ้าน แยกห่างจากกัน ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก มิลาน ลอนดอน นิวยอร์ค เคปทาวน์ นครศรีธรรมราช หรือเชียงใหม่ ไม่ว่าคุณจะเติบโตมาบนความแตกต่างทางวัฒนธรรมและกันตัวเองออกมาอยู่ในเสื้อคลุมของปัจเจก แต่การแพร่ระบาดหนุนนำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การแพร่ระบาดทำให้เรามองเห็นตัวเองเกี่ยวพันกับคนอื่นอย่างแยกไม่ออก การตัดสินใจของเราล้วนส่งผลต่อผู้อื่น
ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราทั้งหมดรวมกันเป็นชีวิตเดียว เป็นชุมชน และส่วนหนึ่งของกันและกัน ตกอยู่ในความหวาดกลัวเดียวกัน ติดชะงักอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติเดียวกัน สิ้นหวังในเรื่องเดียวกัน เปี่ยมกำลังใจในเรื่องเดียวกัน
ในตอนนั้น พรแสง (ไม่มีนามสกุล) ไม่คิดว่าโรคโควิด-19 จะดำรงอยู่ยาวนานตราบวันนี้ เธอมีเงินเก็บอยู่จำนวนหนึ่งที่เก็บออมจากอาชีพนวดแผนโบราณที่ทำมากว่า 20 ปีในเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ แต่ในเวลานั้น ไม่มีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเดินทางมาเชียงใหม่ สถานประกอบการนวดแผนโบราณที่ทำงานอยู่ก็ต้องปิดทำการตามการควบคุมของรัฐ
“ตอนนั้นไม่คิดว่าโควิดจะอยู่กับเรานาน ฉันมีเงินเก็บจำนวนหนึ่ง ก็คิดว่าน่าจะอยู่ได้ 6-7 เดือนค่ะ” พรแสงบอกกับเรา ซึ่งข้อเท็จจริงในกาลต่อมาก็หักล้างการพยากรณ์ของเธอเสียสิ้น
พรแสง เป็นชาวไทใหญ่ โยกย้ายชีวิตมาอาศัยในเมืองเชียงใหม่ เธออยู่ในชุมชน 5 ธันวา ชุมชนที่แรงงานข้ามชาติ แรงงานชาติพันธุ์ และแรงงานนอกระบบ อยู่กันอย่างหนาแน่น
เช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในมหานครแห่งนี้ พรแสงดำรงชีวิตอยู่โดยปราศจากตาข่ายรองรับจากสังคมที่เธอสังกัด
“ฉันเป็นคนไทใหญ่ ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ไม่มีสิทธิรับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล ช่วงที่รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้ 5,000 บาท ฉันก็ไม่ได้การช่วยเหลือตรงนั้น ช่วงที่ร้านนวดปิดทำการ ฉันต้องใช้เงินเก็บที่มีอยู่ดำรงชีวิต แต่โควิดกินเวลายาวนาน เงินเก็บก็หมดไป” พรแสง ย้อนกลับไปในความทรงจำ หากมีรสชาติ ความทรงจำของเธอน่าจะขมปร่า
เงินเก็บสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตของเธอกับลูกที่ป่วยเป็นออติสติกได้เพียง 6 เดือน แต่โรคระบาดยังคงเดินนำหน้าโลกของเรา แต่เศรษฐกิจหยุดนิ่ง ผู้คนจำนวนมากตกงาน คนป่วยล้นโรงพยาบาล สังคมหวาดกลัวและตีตราผู้ติดเชื้อ วัคซีนยังถูกตั้งคำถามและการจัดการยังไม่ทั่วถึง สถานการณ์เช่นนี้ทำให้พวกเราติดอยู่ในเขาวงกต
หลังจากใช้เงินเก็บจนหมด พรแสงพาลูกซ้อนมอเตอร์ไซค์ตระเวนรับอาหารตามจุดที่มีการแจกจ่ายอาหารในเมืองเชียงใหม่ ขณะที่ค่าเช่าห้องก็ได้เพื่อนที่มีสามีชาวต่างชาติช่วยจ้างเธอไปทำความสะอาดบ้าน
“เชียงใหม่เป็นเมืองที่สวยงามค่ะ แต่ด้านที่ไม่สวยงามของเชียงใหม่ก็มี” นิภา ชมภูป่า เแห่งมูลนิธิรักษ์ไทยเชียงใหม่ เริ่มต้นบทสนทนาถึงโครงการอาหารล้านมื้อ (Food For Good) ด้วยการเผยให้เราเห็นด้านไม่สวยงามของเชียงใหม่
โครงการอาหารล้านมื้อ (Food For Good) เกิดจากการร่วมกันระหว่างบริษัทเป๊ปซี่โค ประเทศไทย มูลนิธิเป๊ปซี่โค และมูลนิธิรักษ์ไทย สนับสนุนและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วทุกภาคในประเทศไทย นอกจากอาหาร ยังมีชุดตรวจโควิด (ATK) อุปกรณ์ป้องกันโควิด ยาสามัญประจำบ้าน เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เครื่องวัดไข้ อุปกรณ์สำหรับทำอาหาร มอบให้แก่ผู้ได้รับผล กระทบ ทั้งหมด 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ ลำพูน อุบลราชธานี อุดรธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี นราธิวาสและยะลา
ทีมอาสาสมัครจะเดินทางไปยังชุมชนของกลุ่มเปราะบาง หอบหิ้วถุงพลาสติกสีฟ้าที่ภายในนั้นสามารถทำให้ครอบครัวยังชีพอยู่ได้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ พวกเขาเรียกถุงสีฟ้านั้นว่า ‘ถุงกำลังใจ’
“ถุงกำลังใจสำคัญมากในการให้ความช่วยเหลือในระยะแรกของการระบาด มันช่วยให้เขาทรงตัวอยู่ได้บนคลื่นลมที่เราไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าสถานการณ์จะสงบลงเมื่อไหร่ ทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ มันจะทำให้เขามีแรงส่งตัวเองลุกขึ้นมา มันไม่ได้ช่วยเฉพาะคนติดโควิดแต่รวมถึงคนในครอบครัวเขาด้วย” นิภา ย้อนให้เราฟังถึงช่วงเวลาที่ทุกคนต่างได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผู้เดินทางลงพื้นที่ไปส่งมอบถุงกำลังใจรวมถึงผู้รับกำลังใจนั้นด้วย
“เชียงใหม่เป็นเมืองที่อุดมไปด้วยโภชนาการ แต่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงมาก คนบนดอยก็เจอปัญหาพื้นที่ร่วมของคนกับป่า แรงงานที่อยู่ในเมืองก็มีทั้งแรงงานข้ามชาติและชาติพันธุ์ต่างๆ โครงการ Food For Good ทำให้เราได้วิเคราะห์รากของปัญหาในเชียงใหม่ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19” นิภา เล่า
แม้ภูมิประเทศและวัฒนธรรมจะต่างกัน แต่นครศรีธรรมราชก็ไม่ได้ต่างไปจากเชียงใหม่ในห้วงของการระบาด ชุมชนชาวประมงที่ชุมชนปากนครก็ไม่สามารถหารายได้เข้าบ้านได้ ทั้งๆ ที่ทะเลอยู่หน้าบ้านของพวกเขาแท้ๆ
“ช่วงโควิด ทุกคนล้วนมีชีวิตชะงักงันกันหมด ร้านค้าปิด ไม่รับซื้อวัตถุดิบ ก็ทำให้ชาวประมงรวมถึงชาวบ้านที่รับซื้อวัตถุดิบจากชาวประมงไปแปรรูป ขาดรายได้” ณิชา ศักดิ์วิจารณ์ Case manager ของโครงการ Food for Good แห่งมูลนิธิรักษ์ไทยประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าถึงสภาพปัญหาเบื้องต้นของการระบาด ณิชาและทีมอาสาสมัคร ลงพื้นที่ไปยังบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นำถุงกำลังใจไปมอบให้พวกเขารวมถึงติดตามปัญหาสุขภาพของผู้ได้รับผลกระทบ
ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา สว่าง สุนทรภพ ติดโควิดถึง 4 ครั้ง เขามีภาวะไตวายและเป็นอัมพฤกษ์ เป็น กลุ่มเปราะบางที่โครงการ Food for Good นำถุงกำลังใจมามอบให้ วัตถุดิบในถุงกำลังใจของเขาถูกคัดสรรมาให้เหมาะสมกับสุขภาพของเขาและคนในครอบครัวโดยเฉพาะ เหมือนช่างตัดเสื้อวัดตัวผู้สวมใส่เป็นรายคน
“เราเลือกของที่มีคุณภาพเหมาะกับคนที่เราจะนำไปมอบ” แสงตะวัน งามกาหลง ผู้ประสานงานภาคสนามแห่งมูลนิธิรักษ์ไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช ยกตัวอย่างซีอิ๊วขาวสูตรโซเดียมต่ำที่เหมาะกับคนป่วยโรคไต
นอกจากการแบ่งเบาภาระเรื่องค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ทีมอาสาสมัครของโครงการ Food For Good ยังให้ความรู้เรื่องโรคโควิด-19 แจกอุปกรณ์ป้องกัน ยารักษาโรคพื้นฐาน และติดตามอาการเจ็บป่วยของเขาและภรรยา ในช่วงหนึ่งที่สว่างติดโควิด เขาต้องนอนในห้องไอซียูในช่วงที่เขาติดโควิดถึง 11 วัน
“พอรักษาตัวจนหายออกมา เพื่อนก็ถามว่า มึงหายออกมาทำไม” เขาเล่าถึงอารมณ์แดกดันระหว่างเขากับเพื่อน
แน่นอนว่า โรคโควิด-19 เป็นภัยคุกคาม แต่แสงตะวันเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า โควิดเป็นเหมือนสะพานที่นำทางให้คนทำงานภาคประชาสังคมอย่างมูลนิธิรักษ์ไทย ได้เข้าไปพบปัญหาและหัวใจของชุมชน
“โควิดเป็นเหมือนโอกาสที่ทำให้ ‘รักษ์ไทย’ ได้เรียนรู้ปัญหาที่ซ่อนในชุมชนมากขึ้น” แสงตะวัน อธิบายว่า มูลนิธิรักษ์ไทย ทำงานในประเด็นสุขภาพในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ความซับซ้อนของปัญหาสุขภาพในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในจังหวัดนครศรีธรรมราชคือบริบทสังคมที่เป็นสังคมมุสลิม
“ด้วยวัฒนธรรมและศาสนาก็ทำให้ชุมชนยอมรับเรื่องเหล่านี้ได้ยาก แต่การที่เราลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือชุมชนในสถานการณ์โควิด ทำให้เราได้เปิดตัวต่อชุมชนว่าองค์กรของเราไม่ได้ทำแค่เรื่องโควิดนะ เราทำงานป้องกันและดูแลผู้ป่วย HIV ยุติการรังแกในโรงเรียน ให้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา ทำงานหลายเรื่องภายใต้สิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรเข้าถึงและได้รับโอกาส มันทำให้คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเราเริ่มรู้สึกว่าเขามีพื้นที่ปลอดภัย จากที่ไม่สามารถเปิดเผยเรื่องราวให้ใครรับรู้ได้ ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายก็เริ่มมาติดตามที่เพจของเรา แชทมาขอคำปรึกษา แชทขอตรวจร่างกาย
“อย่างน้อยที่สุด โควิดก็เป็นสะพานที่พาเราไปหาความทุกข์ใจของเขา ความทุกข์ใจที่นอกเหนือจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 นอกจากปัญหาเศรษฐกิจและสุขภาพ มันทำให้เขามีพื้นที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการที่เรานำถุงกำลังใจไปมอบให้ ถ้าคนเรามีโอกาส มีพื้นที่ มีช่องทางเข้าถึงสิทธิ ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในทุกๆ มิติ” แสงตะวัน บอก
สังคมร่วมสมัยตั้งคำถามกับการให้เชิงสังคมสงเคราะห์ แต่แสงตะวันและนิภา ต่างก็มองเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ การให้คือการเกื้อกูลของเพื่อนร่วมสังคม และการรับยังเป็นจุดเริ่มต้นของการให้
“มันคือการเกื้อกูลกันในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ประคองให้เขาลุกขึ้นมาด้วยการให้กำลังใจกัน มันเป็นเหมือนไม้เท้าช่วยให้เขาค้ำยันตัวขึ้นมา เมื่อเขาแข็งแรง เขาก็สามารถไปช่วยเหลือสังคมได้ต่อ ช่วยเหลือคนอื่นได้ต่อ มันเป็นการพึ่งพากันและกัน” แสงตะวัน บอก
หลังจากว่างงานมาเป็นเวลา 2 ปี พรแสง เป็นหนึ่งในผู้ได้รับกำลังใจที่มาในรูปแบบของ ‘ถุงกำลังใจ’ หลังจากเป็น ‘ผู้รับ’ เธอค้ำยันตัวเองขึ้นมาจากซากปรักหักพังของชีวิต ลุกขึ้นยืนและผันตัวมาเป็น ‘ผู้ให้’
พรแสง เข้ามารับการอบรมเป็นอาสาสมัครในโครงการ Food For Good ก่อนจะกลายเป็นนางฟ้าของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน 5 ธันวา
“ก่อนที่จะเป็นอาสาสมัคร ฉันต้องไปอบรมทำความเข้าใจว่า โควิดคืออะไร โรคนี้ติดต่อทางไหน การป้องกันที่ถูกต้องทำอย่างไร ฝึกการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ด้วยความที่เราว่างงาน เราจึงไปช่วยเหลือคนอื่นโดยที่ไม่ลังเลใจ ไปแบบพลังเต็มร้อยมาก เราไปช่วยคนที่ติดโควิด คนที่เดือดร้อนโทรมาตอนตีห้า ‘พี่ ช่วยผมหน่อย ลงทะเบียนไม่เป็น’ เราก็ไปลงทะเบียนให้เขา เขาเรียกเวลาไหนก็ไปหมด บางทีเที่ยงคืนเขาโทรมา เขาติดโควิด ออกจากบ้านไม่ได้ หิวข้าวมาก เราก็ออกไปหาอาหารเอาไปส่งให้เขา”
เพราะความเดือดร้อนไม่เลือกเวลา พรแสง ทำงานอาสาสมัครไป ค่อยๆ เรียนรู้การจัดการเวลาส่วนตัวของตัวเองไปด้วย การให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมชุมชนตั้งแต่เรื่องส่งอาหาร ตรวจสุขภาพเบื้องต้น ไปจนถึงเรื่องสำคัญอย่างสิทธิของแรงงานข้ามชาติ
“ฉันกลายเป็นนางฟ้าของกลุ่มที่ติดโควิด” พรแสง เล่าพร้อมกับซ่อนรอยยิ้ม แต่ปิดไม่มิด “เวลาที่เขาเดือดร้อน เขาก็มักจะมาขอความช่วยเหลือ โควิดระลอกที่สองมั้ง รัฐบาลมีมาตรการให้ผู้ติดเชื้อรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งผู้ป่วยจะไม่ได้ใบรับรองแพทย์ ไม่มีหมอคนไหนยอมเซ็นต์ให้ เราก็ได้ร่วมกันต่อสู้ทั้งมูลนิธิรักษ์ไทยและทีมโควิดกลาง ผู้ติดเชื้อก็ได้ใบรับรองแพทย์ ซึ่งทำให้เขาได้ค่าชดเชยที่หยุดงานไป เราก็มีความสุขที่เขาได้ส่วนนั้น” พรแสง เล่า แน่นอน เธอไม่จำเป็นต้องซ่อนรอยยิ้มนั้นไว้เลย
เรากำลังมองอดีตจากมุมมองของปี 2566 โลกกำลังกลับเข้ามาสู่สภาวะปกติ ชีวิตหลายชีวิตเดินไปข้างหน้า เรามีวัคซีนและความเข้าใจที่มากขึ้น การเดินทางไปยังเชียงใหม่และนครศรีธรรมราชเพื่อตามรอยเส้นทาง ‘โครงการอาหารล้านมื้อ’ หรือ Food for good ได้ทำให้เราเห็นร่องรอยของสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำตา ความสิ้นหวัง ความหิว อาหาร กำลังใจ การลุกขึ้นยืน และสิ่งสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นภายใต้การให้และรับถุงกำลังใจ - ความเปลี่ยนแปลง
“พอมาเป็นอาสาสมัครโครงการ Food for good ฉันรู้สึกว่าตัวเองมีค่าและความหมาย” เธอเล่า ไม่ยิ้ม พรแสงร้องไห้ ไม่ใช่ความเศร้า แต่เป็นปีติยินดีกับการมีชีวิต