วันอาทิตย์เช่นนี้คงเป็นวันสบายๆ ของใครหลายคน บางคนอาจพาครอบครัวไปปิกนิกที่สวนสาธารณะ นัดกินข้าวกับพ่อแม่ หรืออาจไปช็อปปิ้งกับเพื่อนที่ห้างใกล้บ้าน เราทุกคนต่างพยายามใช้ชีวิตให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ในทุกวัน เช่นเดียวกับในพื้นที่สงครามอย่างฉนวนกาซา
SPRiNG ชวนไปดู 5 ครีเอเตอร์เหล่าที่พยายามใช้ชีวิตให้ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาทำได้ เพราะสำหรับพวกเขา นี่อาจเป็นไดอารีสุดท้ายที่พวกเขาเขียนถึงชาวโลกผ่านโซเชียลมีเดีย
1. แอคเคาท์ medo_halimy
”ผมอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ บางสิ่งที่กลับคืนสู่ปกติ ท่ามกลางความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในทุกวัน“ อัล ฮาริมมี (Al-Halimy) เจ้าของแอคเคาท์ ‘medo_halimy’ กล่าวกับ Newyork Times เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ฮาริมมีเป็นเจ้าของแอคเคาท์ ’medo-family’ ที่แนะนำตัวเองว่าเป็น ‘ชาวกาซาคนนึงที่พยายามจะใช้ชีวิต‘ เขาเริ่มบันทึกชีวิตในกาซาครั้งแรกวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2567 และทำเรื่อยมาจนปัจจุบันมีคอนแทนท์ 66 ชิ้นในอินสตราแกรม เขาถ่ายทอดความสุขเล็กๆ ในแต่ละวัน เช่น การนั่งมองพระอาทิตย์ตกริมทะเล, ชีวิตในเต็นท์ผู้อพยพ และชาเลนจ์ปลูกต้นไม้จนกว่าสงครามจะสิ้นสุด
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดพี่ชายของฮาริมมีได้โพสต์วีดีโอเล่าว่า ฮาริมมีเสียชีวิตแล้วจากการโจมตีทางอากาศจากกองทัพอิสราเอลเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ครอบครัวเขายืนยันจะทำวีดีโอในแอคเคาท์นี้ต่อไปเพื่อคนในฉนวนกาซา
ติดตามฮาริมมีได้ที่: https://www.instagram.com/medo_halimy
2. แอคเคาท์ hamadashoo
ความอดอยากเป็นปัญหาใหญ่ของสงคราม UNICEF ชี้ว่า 90% ของเด็กในฉนวนกาซากำลังเผชิญภาวะขาดแคลนสารอาหาร และ ฮามาดะ ชาคูร่า (Hamada Shaqoura) ฟู๊ดบล็อกเกอร์ชาวกาซาคือหนึ่งในคนที่พยายามสู้กับปัญหานั้น
ชาคูร่าถ่ายคอนเทนท์เกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหารในสงคราม ตั้งแต่การนำวัตถุดิบจากกล่องบริจาคมาทำอาหาร, วิธีทำทาโกไสตล์ฉนวนกาซา รวมถึงเขายังเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจคท์ Watermelonrelief ที่ชวนคนในฉนวนกาซามาช่วยกันทำอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาทางโภชนาการของเด็กๆ
ชาคูร่าได้รับเลือกเป็น 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลจากนิตยาร Time ประจำปี 2024 โดยเขากล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของผม ที่จะทำอาหารที่อร่อยและสะอาดไปแจกเด็กๆ ในเต็นท์” ชาคูร่ากล่าวต่อ “ผมแค่พยายามช่วยเด็กเหล่านี้เท่านั้น”
ติดตามเขาได้ที่: https://www.instagram.com/hamadashoo/
3. แอคเคาท์ omarherzshow
สองวัยรุ่นผู้รักฟุตบอล มูฮัมหมัด และ โอมาร์ เริ่มทำแอคเคาท์ omarherzshow ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา พวกเขาบอกเล่าไลฟ์ไสตล์ของวัยรุ่นสองคนในพื้นที่สงคราม อาทิ การเล่นฟุตบอล, การเล่นหมากรุกท่ามกลางเศษซากปรักหักพังจากการถล่มของกองทัพอากาศอิสราเอล
แอคเคาท์ของพวกเขามีผู้ติดตามเกิน 1 ล้านคนแล้วในอินสตราแกรม แต่พวกเขายังคงทำต่อไป จนกว่าสงครามจะสิ้นสุด
ติดตามพวกเขาได้ที่: https://www.instagram.com/omarherzshow/
4. แอคเคาท์ Mca.Rap
อับดุลเราะห์มาน อัล-ชานติ (Abdel-Rahman Al-Shantti) หรือ Mc Abdul แรปเปอร์วัย 16 ปี เจ้าของเพลง ‘Shouting At The Wall’ และ ‘Palestine’ กลายเป็นซุ้มเสียงสำคัญของการต่อต้านของสงคราม เขาขึ้นเวทีระดับโลก เช่น Rolling Loud California และงานฟุตบอลโลกปี 2022 ในกาตาเพื่อพูดถึงชีวิตคนในฉนวนกาซา ผลกระทบจากสงคราม และเรียกร้องให้สร้างสันติภาพให้แก่ชาวปาเลสไตน์
ในครีเอเตอร์ทั้งหมดนี้ อัล – ชานติเป็นคนเดียวที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในฉนวนกาซาอีกแล้ว อย่างไรก็ดี เขายังมีครอบครัวและญาติบางส่วนที่ยังคงอยู่ที่นั่น
ติดตามเขาได้ที่: https://www.instagram.com/mca.rap/
5. แอคเคาท์ Gymrat in Gaza
”สิ่งที่ผมอยากให้คนดู Vlog รู้สึกคือ พวกเรากำลังพยายามอยู่กับมัน (สงคราม) ให้ได้“ โมฮัมหมัด ฟาริส (Mohammed Faris) เจ้าของแอคเคาท์ ‘Gymrat in Gaza’ ที่บอกเล่าคอนเทนท์ผู้ชื่นชอบฟิตเนสในพื้นที่ความขัดแย้งกล่าวกับ Newyork Times
ฟาริสเริ่มทำคอนเทนท์ลงแอคเคาท์ ‘Gymrat in Gaza’ ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้เขามีวีดีโอทั้งหมด 183 ตัวลงในอินสตราแกรม โดยมีคอนเทนท์เช่น 1 วันของเขาในฉนวนกาซา, กินอย่างไรให้มีกล้ามเนื้อ รวมถึงวิธีที่เขาใช้ออกกำลังกายในแต่ละวัน
ติดตามเขาได้ที่: https://www.instagram.com/gym_rat_in_gaza/
“คอนเทนท์เหล่านี้มีความเป็นการเมืองสูงมาก เพราะพวกเขาพูดว่า ‘พวกเรามีชีวิตรอด และเราจะใช้ชีวิตต่อไป’ ” ลอห์รา เคอร์วิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนาวิเคราะห์กับ Newyork Times เธอขยายความว่าโซเชียลมีเดียทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันมีความสนุกและเต็มไปด้วยอารมณ์ขันมากขึ้น แต่ก็ทำให้เข้าถึงผู้คนมากขึ้นเช่นกัน
จนถึงขณะนี้ (ประมาณ 13 เดือน) กระทรวงสาธารณสุขกาซารายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากสงครามอย่างน้อย 43,000 ราย โดยกว่า 70% เป็นเด็กและผู้หญิง