จากกรณีชาวเน็ตนำคลิปวิดิโอของ สส.หมิว พรรคก้าวไกล มาเผยแพร่ และบางส่วนมองว่าไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่นั้น อดีตผู้สมัคร สส. พรรคประชาธิปัตย์ มองว่า เป็นภาพเก่าขณะที่ยังไม่ได้เป็น สส. และมีสิทธิในการลบและควรได้รับความคุ้มครองตาม PDPA
นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรือ "อาจารย์อุ๋ย" นักวิชาการด้านกฎหมายดิจิทัลและอดีตผู้สมัคร ส.ส. เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบัน ข้อมูลใด ๆ เมื่อได้รับการบันทึกในรูปแบบดิจิทัลและมีการเผยแพร่เข้าสู่ระบบออนไลน์แล้ว ข้อมูลดังกล่าวก็จะอยู่เช่นนั้นตลอดไป
ไม่หายไปไหนในลักษณะของ Digital Footprint หรือ รอยเท้าบนโลกดิจิทัล ซึ่งเปรียบเสมือนประวัติทางพฤติกรรมที่ผู้ใช้งานกระทำในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันมีหลายองค์กรและหน่วยงานให้ความสำคัญกับ digital footprint ของบุคลากร เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนและอุปนิสัยของบุคคลนั้นว่ามีความเหมาะสมต่อองค์กรหรือไม่
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA มาตรา 33 กำหนดให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลดำเนินกำรลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ ตามหลักเกณฑ์และข้อยกเว้นที่กำหนด
ซึ่งเป็นการนำหลักการของ "สิทธิที่จะถูกลืม" หรือ Right to be Forgotten ซึ่งมีพัฒนาการจากสหภาพยุโรป ที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation: GDPR) ซึ่งมีหลักการสำคัญว่า
ปัจเจกบุคคลทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะลบ จำกัด หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลในอดีตซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด มีความคลาดเคลื่อนในเชิงเวลา กวนใจ หรือมีข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับตัวปัจเจกบุคคล เมื่อข้อมูลนั้นหมดความจำเป็นหรือปราศจากฐานทางกฎหมายที่จะรองรับการประมวลผลข้อมูลนั้นอีกต่อไป
โดยนายประพฤติเห็นว่า จากกรณีของคุณหมิว ไม่ว่าคุณหมิวจะเป็นผู้สมัครใจโพสข้อมูลหรือคลิปดังกล่าวเองหรือไม่ แต่ในขณะนั้น คุณหมิวยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเผยแพร่นั้นน่าจะรองรับกับสถานะดารานักแสดงของคุณหมิวในขณะนั้น
แต่เมื่อในปัจจุบันคุณหมิวมีสถานะเป็น ส.ส. แล้ว ข้อมูลดังกล่าวก็หมดความจำเป็นสำหรับคุณหมิวอีกต่อไป ดังนั้นคุณหมิวจึงมีสิทธิที่จะลบหรือขอให้ลบข้อมูลดังกล่าวได้ จากระบบอินเทอร์เน็ตได้ หากมีการถูกนำไปเผยแพร่ตามช่องทางต่าง ๆ
นายประพฤติทิ้งท้ายว่า อยากให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์ทุกท่านตระหนักในเรื่องของ Digital Footprint ให้ดี เพราะข้อมูลใด ๆ ที่อยู่ในโลกออนไลน์จะคงอยู่ตลอดไม่หายไป และสามารถถูกสืบค้นได้เสมอ พร้อมกันนี้ก็ฝากไปถึงหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ให้ตระหนักในเรื่องของสิทธิที่จะถูกลืม
และพัฒนากลไกทางกฎหมายในการบังคับใช้สิทธิดังกล่าวด้วย เพราะคนเราบางทีตอนโพสอะไรไปอาจจะยังไม่ได้คิดไกลถึงอนาคตว่าสิ่งที่โพสไปนั้นจะมีผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตตนเองในภายหลัง