ทำความรู้จัก "รัฐธรรมนูญมาตรา 121 122 และ 175" กับ 1 ในรัฐพิธีสำคัญใน "การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งแรก"
หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ "พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2566" ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป
ซึ่งเนื้อหาโดยสรุประบุว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 แล้ว และตามความในมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้ มีการเรียกประชุมรัฐสภาภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ด่วน! โปรดเกล้าฯ เรียกประชุมรัฐสภา ตั้งแต่ 3 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป
• ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” ยังไม่จบ ? จับตา เกมคืนชีพพลังประชารัฐ
• เปิดไทม์ไลน์ เช็กปฏิทิน เปิดสภาฯ สู่การโหวตนายกฯ คนที่ 30 วันไหน
จากรายงานของคมชัดลึก เผยว่า ทำความรู้จักรัฐธรรมนูญมาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 175 ในการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกว่ามีวิธีการและขั้นตอนอย่างไร
รัฐธรรมนูญมาตรา 121
ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก
ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย ๆ หนึ่งให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้
การปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีก่อนครบกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันจะกระทำได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของรัฐสภา
วันประชุมครั้งแรกตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ให้เป็นไปตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนดแต่ในกรณีที่การประชุมครั้งแรกตามวรรคหนึ่งมีเวลาจนถึงสิ้นปีปฏิทินไม่เพียงพอที่จะจัดให้มีการประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง จะไม่มีการประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่สองสำหรับปีนั้นก็ได้
รัฐธรรมนูญ มาตรา 122
พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม
พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้
เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้
ภายใต้บังคับมาตรา 123 และมาตรา 126 การเรียกประชุม การขยายเวลาประชุม และการปิดประชุมรัฐสภา ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
รัฐธรรมนูญ มาตรา 175
ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
ความเป็นมารัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไทย
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไทย เป็นพิธีที่รัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติจัดขึ้นหลังมีการเลือกตั้งและสรรหาสมาชิกสภาเสร็จสิ้นลงและมีการเรียกประชุมสภาสมัยสามัญขึ้นครั้งแรก ปัจจุบันมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 122 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดําเนินมาทรงทํารัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจําปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทํารัฐพิธีก็ได้
เดิมที่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงพระพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรีขึ้น และมีการประชุมขึ้นครั้งแรกในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสให้เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ อัญเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมในครั้งนั้น โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า
…ท่านย่อมทราบแล้วว่าตำนานของกรุงสยามตั้งแต่โบราณกาลมาการปกครองประเทศย่อมอยู่ในพระราชอำนาจอันสิทธิ์ขาดของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว แต่เมื่อบ้านเมือง เจริญขึ้น มีราชการมากขึ้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ทรงตั้งแต่งผู้ที่ทรงวางพระราชหฤทัยเป็นเสนาบดี ให้บังคับบัญชากระทรวง ทบวงการต่าง ๆ เพื่อปลดเปลื้องพระราชภาระ…
กระทั่งเกิดการการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งใช้เป็นธรรมนูญปกครองแผ่นดินชั่คราวในขณะนั้นมิได้บัญญัติในเรื่องดังกล่าว กระนั้นก็ตาม จึงได้อาศัยประเพณีข้างต้นมาปฏบัติโดยอนุโลม เมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้นครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมสภาขึ้นชั่วคราว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร อัญเชิญพระราชดำรัสไปอ่านเปิดการประชุม ความว่า
วันนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติการณ์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่า ท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจที่จะช่วยกันปรึกษาการงานเพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศสยามสืบไป และเพื่อรักษาความอิสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพร แก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่านซึ่งมีจุดมุ่งหมาย อันเดียวกันทุกประการเทอญ
กระทั่งมีการกำหนดรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 มาตรา 30 วรรคสอง ว่า "พิธีเปิดประชุม จะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนิรมาทรงทำ หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้รัชชทายาทที่บรรลุนีติภาวะแล้วหรือนายกรัฐมนตรีกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้" นับเป็นครั้งแรกที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับพิธีนี้
นับแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อมีการเรียกประชุมรัฐสภาหรือสภาอันใดที่มีความหมายเดียวกันขึ้นเป็นสมัยแรกของสภานั้น พระมหากษัตริย์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธี หรืออาจทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดเกล้ากระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์ไปในพิธีดังกล่าวเสมอ
แม้ต่อมาจะมีการสร้างอาคารรัฐสภาขึ้นใหม่ทดแทนการใช้โถงพิธีพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว แต่ยังคงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ณ โถงพิธีพระที่นั่งอนันตสมาคมเช่นเดิม เว้นแต่จะกำหนดเป็นที่อื่นเป็นครั้งๆ ไป
ตัวอย่างรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา
รัฐพิธีเปิดประชุมสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2519 ขอบคุณคลิปจากสำนักข่าวเอพี
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2551 ขอบคุณคลิปจากสำนักข่าวเอพี
รัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 ถ่ายทอดโดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ขอบคุณคลิปจากไทยพีบีเอส)
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ถ่ายทอดโดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ขอบคุณคลิปจากช่อง 9 MCOT HD)