svasdssvasds

ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” ยังไม่จบ ? จับตา เกมคืนชีพพลังประชารัฐ

ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” ยังไม่จบ ? จับตา เกมคืนชีพพลังประชารัฐ

ช่องว่างความขัดแย้งในศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” ระหว่าง “พรรคก้าวไกล” กับ “พรรคเพื่อไทย” และโอกาสของ “พลังประชารัฐ” ในการกลับเข้าสู่เส้นทางการเป็นรัฐบาล

จากที่ก่อนหน้านี้ เหมือนว่าตำแหน่ง “ประธานสภา” ได้ข้อยุติแล้ว หลังจาก “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ประสานเสียงในคีย์เดียวกันว่า พรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ควรได้เก้าอี้ “ประธานสภา” แต่ด้วยจำนวนเสียงเป็นไปอย่างสูสี ดังนั้นพรรคอันดับ 2 ก็ควรได้ “รองประธานสภา” ทั้ง 2 ตำแหน่ง ซึ่งเหมือนเป็นการส่งสัญญาณยอมให้ “ก้าวไกล” ได้เก้าอี้ “ประธานสภา” ไปครอบครอง

แต่ผ่านไปได้แค่วันเดียวก็เกิดปรากฏการณ์วงแตก “สมาชิกพรรคเพื่อไทย” หลายคนออกมาโวยวาย ไม่พอใจท่าทีของ 2 แกนนำพรรค ถึงกับถามออกมาแบบไม่ไว้หน้า เป็นคนของใคร “เพื่อไทย” หรือว่า “ก้าวไกล”  

สถานการณ์ในตอนนี้จึงเหวี่ยงกลับไปที่จุดเดิม คือยังไม่มีอะไรแน่นอน และด้วยท่าทีพร้อมท้ารบของ “อดิศร เพียงเกษ” สมาชิกของพรรคเพื่อไทย ก็แสดงให้เห็นว่า คนของพรรคเพื่อไทยจำนวนไม่น้อย พร้อมจะแตกหักกับ “ก้าวไกล” เพื่อช่วงชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” ให้ถึงที่สุด

ซึ่งสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้ ก็ยังมองไม่ออกว่า มันเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ หรือมี “เกมการเมือง” เข้ามาเป็นส่วนผสม โดยมีการวาง “ตัวปู” และ “ตัวตบ” ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” ยังไม่จบ ? จับตา เกมคืนชีพพลังประชารัฐ

บทความที่น่าสนใจ

“พรรคเพื่อไทย” แม้อำนาจต่อรองเพียบ แต่ใช้ได้อย่างไม่เต็มที่

จากผลการเลือกตั้ง “พรรคก้าวไกล” ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 แต่ก็เป็นไปอย่างสูสีกับ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งด้วยแนวทางของพรรค ประกอบกับมีพันธมิตรที่จำกัด ทำให้การเป็นนายกฯ และแกนนำรัฐบาลของ “พรรคก้าวไกล” ต้องอาศัย “พรรคเพื่อไทย” ในขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” หากไม่มี “พรรคก้าวไกล” ก็ยังมีโอกาสเป็นรัฐบาลได้ รวมถึงการเป็นนายกรัฐมนตรี

และถึงแม้ “พรรคเพื่อไทย” จะอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ มีอำนาจต่อรองเพียบ แต่ที่ผ่านมาก็แทบขยับ หรือใช้ “อำนาจต่อรอง” ได้อย่างไม่เต็มที่ อันเนื่องมาจากสัญญาประชาคมที่ได้ให้ไว้ช่วงท้ายๆ ก่อนวันเลือกตั้ง ที่จะไม่จับมือกับพรรค 2 ลุง โดยเฉพาะกับ “พลังประชารัฐ” ซึ่งเคยถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีดีลลับฯ ร่วมกัน

การเดินเกมของ “พรรคเพื่อไทย” หลังการเลือกตั้ง จึงเป็นไปอย่างระมัดระวัง พยายามแสดงบทบาท “พระรอง” ที่แสนดี พร้อมสนับสนุนพระเอกอย่าง “พรรคก้าวไกล” อย่างเต็มที่

แต่เมื่อ “พรรคก้าวไกล” ยืนยัน นอกจากตำแหน่งนายกฯ แล้ว ก็ต้องได้เก้าอี้ “ประธานสภา” ด้วย ทำให้เริ่มเห็นร่องรอยแห่งความขัดแย้งของทั้ง 2 พรรค ได้อย่างเด่นชัด

ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” ยังไม่จบ ? จับตา เกมคืนชีพพลังประชารัฐ

“พรรคเพื่อไทย” มีโอกาสได้เป็นแกนนำรัฐบาล มากกว่า “พรรคก้าวไกล”

ในวันนี้ หากว่ากันถึง “ความน่าจะเป็น” ในการเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี กูรูการเมืองหลายคนก็มองว่า “พรรคเพื่อไทย” มีโอกาสมากกว่า “พรรคก้าวไกล”

เพราะแม้สถานการณ์ของ “พิธา” จะดีขึ้นในกรณีถือหุ้นไอทีวี แต่เมื่อเช็กเสียง ส.ว. ก็มีจำนวนไม่มากนักที่ยืนยันว่าจะโหวตให้ “พิธา” ได้เป็นนายกฯ

จึงมีการประเมินว่า โอกาสเกิด “รัฐบาลส้มหล่น” สลับ “พรรคเพื่อไทย” ขึ้นมาเป็นแกนนำ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ (อาจดึงพรรคร่วมรัฐบาลเดิมบางพรรค เข้ามาผสม) ก็ถือว่าเป็น” โมเดลรัฐบาล” ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด

แต่ทั้งนี้ “พรรคเพื่อไทย” ต้องเดินเกมอย่างใจเย็น รอให้สถานการณ์ในแต่ละช่วงสุกงอมเต็มที่ โดยเฉพาะตอนโหวตเลือกนายกฯ แล้วเมื่อสังคมเห็นแล้วว่า “รัฐบาลก้าวไกล” ไปต่อไม่ได้จริงๆ การที่ “พรรคเพื่อไทย” จะสลับขึ้นมาเป็นแกนนำจัดรัฐบาลเอง  ก็เป็นเรื่องที่สังคมเข้าใจ และสามารถยอมรับได้

ดังนั้นถ้า “พรรคเพื่อไทย” ยอมปล่อยตำแหน่ง “ประธานสภา” ให้กับ “พรรคก้าวไหล” เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างบรรยากาศที่ดีทางการเมือง แล้วอดใจรอตำแหน่ง “นายกฯ” ซึ่งถ้าเปรียบเป็นการลงทุน ก็ต้องเรียกว่า ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” ยังไม่จบ ? จับตา เกมคืนชีพพลังประชารัฐ

พรรคก้าวไกล VS พรรคเพื่อไทย จับตา เกมคืนชีพพลังประชารัฐ

แต่เมื่อภาพที่ออกมาเวลานี้ “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคก้าวไกล” พร้อมชนเต็มที่ เพื่อชิงตำแหน่ง “ประธานสภา” ก็ทำให้เกิดข่าวสะพัด “ดีลลับครั้งใหม่” ขึ้นมาอีก  

โดยในวันเลือก “ประธานสภา” ตามข้อกำหนดแล้ว ส.ส. ทั้ง 500 คน จะลงคะแนนแบบลับ โดยอาจมีเซอร์ไพรส์ คนของพลังประชารัฐ เสนอชื่อคนของพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” กับคนพรรคก้าวไกล

ถ้าสมมุติดีลลับฯ เป็นเรื่องจริง โอกาสที่ “พรรคเพื่อไทย” จะได้ “เก้าอี้ประธานสภา” ก็เป็นไปได้สูง ซึ่งมีการโฟกัสไปยัง “สุชาติ ตันเจริญ” ว่าจะเป็นคนที่ถูกเสนอชิงเก้าอี้ “ประธานสภา” หรือไม่ ?

โดย “สุชาติ ตันเจริญ” ปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แต่ก่อนหน้านี้เป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และรองประธานสภา ในรัฐบาลบิ๊กตู่

ดีลลับข้างต้น อาจเป็นเพียงการมโนทางการเมือง แต่สมมติว่าถ้าเกิดขึ้นจริง ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ก็คือเหล่า ส.ส. พลังประชารัฐ ที่อาศัยช่องว่างความขัดแย้ง แล้วเปิดเกม สร้างเงื่อนไขให้มีโอกาสกลับเข้าสู่เส้นทางการเป็นรัฐบาลได้อีก

ส่วน “พรรคเพื่อไทย” แม้จะได้เก้าอี้ “ประธานสภา” แต่ก็เป็นการเปลืองตัวโดยไม่จำเป็น เพราะเพียงแค่ “ใจเย็นๆ” ยอมเสียเก้าอี้ “ประธานสภา” วันข้างหน้าก็มีโอกาสได้เก้าอี้ “นายกฯ” แบบเท่ๆ แล้ว

related