เปิดบทลงโทษ กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 151 หากรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติแต่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 2566 ที่กกต.เล็งสอบ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ที่มีความเชื่อมโยงกับการถือหุ้นสื่อ โดย กกต.สั่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนแล้วหลังมีผู้ยื่นร้องเรียน
จากกรณีมีกระแสข่าวว่า สำนักงาน กกต. เสนอ ให้ที่ประชุม กกต.มีคำสั่งให้เป็นกรณีความปรากฏต่อกกต. ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามของการลงสมัครรับ เลือกตั้ง 2566 และการยินยอมให้พรรคการเมืองส่งชื่อตนเองเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงยอมให้เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. หรือไม่นั้น
เมื่อตรวจสอบมาตรา 151 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566
พบว่า มาตรา 151 ระบุว่า
ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอม ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนด 20 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย
• ย้อนร้อย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยโดนฟ้อง ม. 151
ในอดีตที่ผ่านมา ช่วงปี 2562 กกต. เคยแจ้งความดำเนินคดี ตามมาตรา 151 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าอนาคตใหม่มาแล้ว ในข้อหารู้อยู่แล้วว่าตนเอง ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมีให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ กรณีถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด (หุ้นสื่อ)
แต่ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งทางคดี คือ สั่งไม่ฟ้องนาย ธนาธร ในความผิดฐาน มาตรา 151 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3), 151 วรรคหนึ่ง โดยคดีนี้อัยการสูงสุด มีความเห็นว่าการดำเนินคดีในความผิดฐานดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาจำต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งปวงว่ากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
โดยอัยการสูงสุดเห็นว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่ามีข้อพิรุธ ก็เป็นเรื่องพิรุธในข้อเท็จจริงของคำให้การพยานเพียงฝ่ายเดียว แต่การดำเนินคดีอาญาโจทก์จะต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงหรือใช้นำสืบพิสูจน์ให้ศาลรับฟังเชื่อได้โดยปราศจากข้อระวังสงสัยว่ากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่อาจนำเอาข้อพิรุธของพยานตามที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อยืนยันว่ากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาได้โดยลำพัง