สำรวจ “ปัจจัยภายนอก” ที่อาจทำให้ ““พรรคก้าวไกล” ไปไม่ถึงฝั่งฝัน จัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ แม้จะมีความชอบธรรมเป็น “แกนนำจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด” ก็ตามที
แม้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด “พรรคก้าวไกล” จะชนะการเลือกตั้ง อีกทั้งยังรวบรวมเสียงจาก ส.ส. ได้ 312 เสียง จาก 8 พรรคการเมือง เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร สามารถเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ แต่โอกาสที่ “รัฐบาลก้าวไกล” จะเกิดขึ้นได้ ชั่วโมงนี้ก็ต้องขอบอกว่า ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายๆ เลย เพราะยังมีอีกหลายๆ ด่านโหดให้ต้องฟันฝ่า
โดยเกมจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง หากพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ แล้ว “ปัจจัยภายนอก” ได้กลายเป็น "ผู้กำหนดเกม” ให้กับ “พรรคก้าวไกล” และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง
ซึ่งปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่อาจส่งผลให้ “พรรคก้าวไกล” หลุดวงโคจรการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีดังต่อไปนี้
“เพื่อไทย” ขาด “ก้าวไกล” ได้ แต่ “ก้าวไกล” ขาด “เพื่อไทย” ไม่ได้
แม้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด “พรรคเพื่อไทย” จะได้จำนวน ส.ส. เป็นอันดับที่ 2 แต่ก็ห่างจาก “ก้าวไกล” ไม่มากนัก ทำให้มีอำนาจต่อรองที่สูงมาก เพราะการเป็นรัฐบาลของ “พรรคก้าวไกล” ถ้าขาด “พรรคเพื่อไทย” ก็ไปต่อไม่ได้
แต่สำหรับ “พรรคเพื่อไทย” ยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหลายทางเลือกก็สามารถทำให้ “พรรคเพื่อไทย” ขึ้นเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยไม่จำเป็นต้องมี “พรรคก้าวไกล”
และจากอำนาจต่อรองที่สูงมากส่งผลให้ “พรรคก้าวไกล” ต้องจำยอม “พรรคเพื่อไทย” ในหลายๆ เรื่อง ซึ่งต้องจับตากันว่า “เก้าอี้ประธานสภา” ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญในการการันตีว่า “พรรคก้าวไกล” จะไม่ถูกเกมพลิกขั้ว ดีดให้ไปเป็นฝ่ายค้าน จะมีบทสรุปอย่างไร
ซึ่งถ้า “ก้าวไกล” ถูกกดดันจนต้องยอมปล่อยเก้าอี้นี้ให้กับ “พรรคเพื่อไทย” ก็มีแนวโน้มว่าจะหมด “แต้มต่อ” ที่สำคัญ และจะทำให้อำนาจต่อรองของ “พรรคเพื่อไทย” ที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งสูงขึ้นไปอีก จนอยู่ในฐานะ “ผู้กำหนดเกม” ได้เลยทีเดียว
บทความหรือข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดงบประมาณ กระทรวงเกรดเอ งบ 1 ใน 3 ของประเทศ กระทรวงที่หลายพรรคอยากดูแล
เปิดเหตุผล ที่ "อาจ" ต้อง เลือกตั้งซ่อมทั้งประเทศ จากปม "พิธา" ถือหุ้น ITV
หากปมถือหุ้นสื่อฯ พ่นพิษ “เพื่อไทย” จะขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ถ้าสมมติ “พิธา” ถูกพิษปมถือหุ้นสื่อ ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ก็มีแนวโน้มว่า ส.ว. จำนวนหนึ่งจะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อไม่โหวตสนับสนุน ทำให้ “รัฐบาลก้าวไกล” ได้เสียงไม่ถึง 376 เสียง
ส่งผลให้ “พรรคเพื่อไทย” มีความธรรมขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยอาจจะดึง “พรรคภูมิใจไทย” เข้าร่วมด้วย เพื่อให้ได้เสียง ส.ส. เกิน 376 เสียง ปิดสวิตช์ ส.ว.
แต่สมมติว่า มีการวางเกมเพื่อโดดเดี่ยว “ก้าวไกล” เราก็อาจจะได้เห็นการตั้งแง่ของ “พรรคภูมิใจไทย” ที่ปฏิเสธเข้าร่วมด้วย ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” อ้างความจำเป็นต้องดึง “พรรคพลังประชารัฐ” เข้าร่วมแทน
แต่ด้วยติดเงื่อนไขที่เคยประกาศว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ “พรรค 2 ลุง” หากถูกกระแสสังคมต่อต้านรุนแรง เราก็ได้เห็นโมดลที่เคยเป็นข่าวสะพัดก่อนหน้านี้ คือ “บิ๊กป้อม” ประกาศวางมือ (อาจไปคุมเกมอยู่เบื้อหลัง) ยุบ “พรรคพลังประชารัฐ” แล้วให้ ส.ส. ทั้ง 40 คน ย้ายเข้ามาเป็นสมาชิก “พรรคเพื่อไทย”
โดยโมเดลนี้จะได้เสียงของ ส.ส. 9 พรรค จำนวน 352 คน ไม่ถึง 376 เสียง แต่ก็จะได้เสียงของ ส.ว. จำนวนไม่น้อย ในเครือข่ายของ “บิ๊กป้อม” ช่วยโหวตสนับสนุนจนได้คะแนนถึง 376 เสียง ได้อย่างไม่ยากนัก
แต่ปัญหา (หรือสิ่งที่ตั้งใจให้เป็นปัญหา) ก็คือ “พรรคก้าวไกล” เคยประกาศว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ “พลังประชารัฐ” แม้อาจจะมีการยุบพรรคแล้ว แต่ภาพที่ออกมาก็ไม่ต่างอะไรกับการหลอกลวงประชาชน ทำให้ “พรรคก้าวไกล” ต้องเลือกระหว่าง “เกียรติภูมิของพรรค” กับ “การเป็นรัฐบาล”
และเชื่อเถอะว่า ถึงแม้ “พรรคก้าวไกล” จะยอมสูญเสีย “เกียรติภูมิของพรรค” แต่ก็จะมีเงื่อนไขอื่นๆ ตามมาบดขยี้อีก เพื่อให้ภาพลักษณ์ของพรรคดูย่ำแย่ ฉะนั้นแล้ว มีแนวโน้มสูงว่า ถ้า “พรรคพลังประชารัฐ” เข้ามาร่วมทีมด้วย ไม่ว่าจะมาในรูปแบบทั้งพรรค หรือยุบพรรค “พรรคก้าวไกล” ก็จะเลือกไม่ขอร่วมรัฐบาล เพื่อรักษาฐานมวลชนเอาไว้
“เพื่อไทย” เป็นแกนนำรัฐบาล “ก้าวไกล” เป็น “ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน”
เมื่อมาถึงจุดที่ “พรรคก้าวไกล” ถอนตัวออกไป คะแนนเสียงของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ก็จะลดฮวบ หายไป 151 เสียง เหลือเพียง 201 เสียง แต่เมื่อไม่มี “พรรคก้าวไกล” โอกาสที่พรรคอื่นๆ โดยเฉพาะ “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” ทั้ง “ภูมิใจไทย” (71 เสียง) “ประชาธิปัตย์” (25 เสียง) “ชาติไทยพัฒนา” (10 เสียง) รวมถึงพรรคอื่นๆ ก็เข้ามาแทนที่ ทำให้ได้รัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพได้อย่างไม่ยากนัก
ซึ่งในกรณีนี้ อาจมีบางพรรคเล็กจากกลุ่ม “รัฐบาลก้าวไกลเดิม” ออกไป หรือมีบางพรรคเล็กอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา ส่วน “พรรคก้าวไกล” ก็ต้องกลายไปเป็นฝ่ายค้าน ร่วมกับ “พรรครวมไทยสร้างชาติ”
“พรรคก้าวไกล” ถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง ?
แต่เอาเข้าจริงๆ ถ้ามาได้ถึงขั้นนี้แล้ว หากสุดท้ายแล้วจะมี “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ร่วมรัฐบาลด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่พรรคที่จะเสื่อมเสียอย่างแทบไม่หลงเหลือความน่าเชื่อถือเลยก็คือ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่าจะยอมแลกขนาดไหน กับการได้เป็น “แกนนำรัฐบาล” ในครั้งนี้
อันนี้ยังไม่รวมกรณีที่มีการเปิดประเด็นอื่นๆ อีก อาทิ ปมถือหุ้นสื่อฯ ของ “พิธา” จะไปไกลถึงขั้นต้องเลือกตั้งซ่อมไหม ? ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าข่าวสะพัดดีลลับต่างๆ จะเคยมีการพูดคุยกันจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือ มีหลายโมเดลที่อาจทำให้ “พรรคก้าวไกล” ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ในขณะที่ “พรรคก้าวไกล” มีทางเลือกเดียว นั่นก็คือ “พรรคเพื่อไทย”
และถึงแม้ “พรรคเพื่อไทย” จะเลือกอยู่เคียงข้าง ไม่เล่นการเมืองสร้างเงื่อนไขบีบให้ “พรรคก้าวไกล” ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ อีก ที่หากจะขัดขวางจริงๆ ก็ยากที่ “พรรคก้าวไกล” จะร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ได้ แม้จะเป็นพรรคที่มี “ความชอบธรรม” มากที่สุด ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ตามที