svasdssvasds

วันที่ 3 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันแมงกระพรุนโลก (World Jellyfish Day)

วันที่ 3 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันแมงกระพรุนโลก (World Jellyfish Day)

วันที่ 3 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันแมงกระพรุนโลก (World Jellyfish Day) รู้หรือไม่? 'แมงกะพรุน' สิ่งมีชีวิตสุดแสนอัศจรรย์ เป็นสัตว์ทะเลที่มีอายุยาวนานหลายร้อยล้านปี!

แมงกะพรุน (Jellyfish) ถือว่าเป็นสัตว์ทะเลที่มาอายุอยู่บนโลกใบนี้มายาวนานหลายร้อยล้านปี แมงกระพรุนเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในไฟลัมไนดาเลีย (Cnidaria) เช่นเดียวกับดอกไม้ทะเล และปะการัง แมงกะพรุนที่พบได้บ่อยที่สุดจัดอยู่ในกลุ่ม ‘Scyphozoa’ แมงกะพรุนในกลุ่ม ‘Cubozoa’ หรือแมงกะพรุนกล่อง (box jellyfish) และแมงกะพรุนในกลุ่ม ‘Hydrozoa’

แมงกะพรุนมีมากกว่า 9,000 สายพันธุ์ และมากกว่า 100 สายพันธุ์ที่มีพิษต่อมนุษย์ แพร่กระจายยอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก พบได้ตั้งแต่บริเวณผิวน้ำจนถึงทะเลลึก ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตในทะเลบริเวณน้ำตื้น แต่มีบางชนิดที่อยู่ในน้ำจืด กินอาหารจำพวกสัตว์ต่างๆ เช่น กุ้ง ปลา โดยตัวแมงกะพรุนประกอบด้วยวุ้นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีน้ำเป็นองค์ประกอบถึง 95% มีระบบประสาท แต่ไม่มีสมอง

พิษของแมงกะพรุน จะอยู่ในแคปซูลที่เรียกว่า นีมาโตซีส (nematocyst) กระจายอยู่ทั่วทุกส่วนของแมงกะพรุน โดยเฉพาะส่วนหนวด (tentacle) พิษของแมงกะพรุนสามารถทำให้บาดเจ็บได้หลายระดับขึ้นอยู่กับชนิดของแมงกะพรุนรวมถึงปริมาณพิษที่ได้รับ บริเวณที่สัมผัสสามารถมีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่รู้สักคันมีผื่นเล็กน้อย ปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่สัมผัสหรือได้รับพิษ ไปจนถึงทำให้หัวใจหรือระบบหายใจล้มเหลว

ลักษณะความเป็นพิษ 5 กลุ่ม ที่มาภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
แมงกะพรุนพิษที่พบในประเทศไทยแบ่งตามลักษณะความเป็นพิษได้ 5 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 วงศ์ Chirodropidae พบจำนวน 2 ชนิด เป็นกลุ่มที่มีพิษรุนแรง ส่งผลต่อระบบประสาท กล้ามเนื้อหัวใจ และการไหลเวียนของเลือดในปอด สามารถทำให้เสียชีวิตได้
กลุ่มที่ 2 วงศ์ Carukiidae พบจำนวน 2 ชนิด มีพิษทำให้บริเวณที่สัมผัสมีอาการปวดอย่างรุนแรง และอาจทำให้จมน้ำได้
กลุ่มที่ 3 วงศ์ Chiropsalmidae พบจำนวน 1 ชนิด มีพิษทำให้บริเวณที่สัมผัสมีอาการปวดแสบปวดร้อน และเป็นผื่นแดง
กลุ่มที่ 4 วงศ์ Physaliidae พบจำนวน 1 ชนิด มีพิษทำให้บริเวณที่สัมผัสมีอาการปวดแสบปวดร้อน แน่นหน้าอก หายใจลําบาก 
กลุ่มที่ 5 วงศ์ Pelagiidae พบจำนวน 2 ชนิด มีพิษทำให้บริเวณที่สัมผัสมีอาการปวดแสบปวดร้อน

เรื่องน่ารู้ของ ‘แมงกะพรุน’
1. ชื่อ Jellyfish แต่ไม่ใช่ fish แม้จะมีคำว่าปลาอยู่ในชื่อภาษาอังกฤษ แต่แมงกะพรุนไม่มีรูปร่างคล้ายกับปลาเลย ปลาจะเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง แต่แมงกะพรุนไม่มีกระดูกสันหลัง ลักษณะของแมงกะพรุนจะมีลำตัวโปรงใส นิ่ม ร่างกายประกอบไปด้วยวุ้นมีน้ำเป็นองค์ประกอบถึง 95% ที่สำคัญคือไม่มีเหงือก สมอง ปอด หัวใจ หรือแม้แต่เลือด

2. แมงกะพรุนแก่กว่าไดโนเสาร์! เพราะแมงกะพรุนเป็นสัตว์กลุ่มแรกๆ ที่ถือกำเนิดบนโลกใบนี้มากว่า 500 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งอยู่มาก่อนจะมีไดโนเสาร์ถึง 230 ล้านปี โดยนักโบราณคดีค้นพบ 'ฟอสซิลแมงกะพรุน' เก่าแก่ที่สุดในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ปี พ.ศ. 2560 จากการตรวจสอบคาดว่ามีอายุประมาณ 540 ล้านปี

3.แมงกะพรุนเป็นสิ่งมีชีวิติที่มีหลายหลายรูปร่าง ขนาด สี โดยแมงกะพรุนที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก คือ แมงกะพรุนอิรุคันจิ (Irukanji Jellyfish) มีความกว้างขนาด 25 มิลลิเมตร และแมงกะพรุนที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก คือ แมงกะพรุนแผงคอสิงโต (Lion’s mane jellyfish) มีความยาวของลำตัวจากด้านบนสุดถึงปลายหนวด พบยาวได้มากถึง 37 เมตร ซึ่งขนาดตัวพอๆ กับวาฬสีน้ำเงิน นอกจากนี้ยังมีแมงกะพรุนที่มีรูปร่างและสีสันสวยงามอย่าง แมงกะพรุนหมวกดอกไม้ (Flower Hat Jelly) แมงกะพรุนคอสตาริกา (Costa Rican Jellyfish) รวมถึงแมงกะพรุนที่มีรูปร่างแปลกประหลาดอย่าง แมงกะพรุนไข่ดาว (Fried Egg jellyfish) 

4. แมงกะพรุนเคยไปอวกาศมาแล้ว! เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2534 องค์การนาซา (NASA) เคยส่งแมงกะพรุนไปดวงจันทร์กว่า 2,500 ตัว ไปกับกระสวยอวกาศโคลัมเบีย STS-40 เพื่อศึกษาเรื่องระบบประสาท และแมงกะพรุนยังมีระบบตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงที่ละเอียด สำหรับการรักษาสมดุลการว่ายน้ำในทิศทางต่างๆ

ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

related