ป.ป.ช. ชี้ทูลความผิดอาญาและจริยธรรม นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย รับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากบุคคลใด เนื่องจากยอมให้บุคคลอื่นชำระค่ารักษาพยาบาลแทนให้แก่ตนเอง
วันนี้ (2 มกราคม) นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหา นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย รับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากบุคคลใด เนื่องจากยอมให้บุคคลอื่นชำระค่ารักษาพยาบาลแทนให้แก่ตนเอง
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า นายณัฏฐ์ชนน ขณะดำรงตำแหน่ง ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ระหว่างวันที่ 19 – 21 กันยายน 2562 และวันที่ 23 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2562 มีค่ารักษาพยาบาล รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,449,223 บาท
นายณัฏฐ์ชนน ได้ยอมให้บุคคลอื่นชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลแทนตนเอง รวมเป็นเงินจำนวน 1,335,778 บาท และได้นำใบเสร็จรับเงินค่ารักษาไปเบิกค่ารักษาพยาบาล จากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเบิกจ่ายได้เป็นเงิน จำนวน 495,409.50 บาท มีส่วนที่เกินสิทธิไม่สามารถเบิกจ่ายได้เป็นเงินจำนวน 953,813.50 บาท ต่อมานายณัฏฐ์ชนน ได้เสนอให้มีการแต่งตั้งบุคคลหนึ่งในสามราย ที่ชำระค่ารักษาพยาบาลแทนตน เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ตามคำสั่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ 2455/2563 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563
ดังนั้น การกระทำของนายณัฏฐ์ชนน จึงเป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ การกระทำของ นายณัฏฐ์ชนน มีมูลความผิดทางอาญา ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169 และมีมูลความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 17 ประกอบข้อ 3 และข้อ 27
โดยให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และให้เสนอเรื่องกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตราฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ตามฐานความผิดดังกล่าวตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76 และมาตรา 87 ประกอบระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 แล้วแต่กรณีต่อไป