ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
กระทรวงการคลังเสนอเก็บภาษีค่าความหวานให้ ครม.พิจารณาวันนี้ เก็บสูงสุด 1 บาท ในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 14 กรัมขึ้นไป
[caption id="attachment_85119" align="aligncenter" width="715"] นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต[/caption]
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (22 ส.ค.) กระทรวงการคลังจะเสนอร่างกฎกระทรวงฉบับที่ 29 ซึ่งมีเรื่องภาษีเครื่องดื่ม ที่จะจัดเก็บจากค่าความหวานของน้ำตาลเพิ่มขึ้นมา ถือเป็นภาษีใหม่ที่ไม่เคยจัดเก็บมาก่อน โดยเครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง และชาเขียว หากมีค่าความหวานหรือน้ำตาลมากกว่าที่กฎหมายกำหนด จะต้องเสียภาษีเพิ่ม จากปัจจุบันที่เสียภาษีสรรพสามิต 20% จากมูลค่าอยู่แล้ว
สำหรับ อัตราภาษีที่เสนอเก็บตามค่าความหวาน แบ่งเป็น 6 ระดับ คือ 1.ค่าความหวาน 0-6 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ไม่เสียภาษี ค่าความหวาน 6-8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 10 สตางค์ ต่อลิตร ค่าความหวาน 8-10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 30 สตางค์ต่อลิตร
ค่าความหวาน 10-14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร และค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ขึ้นไป เสียภาษี 1 บาท ต่อลิตร
การผลักดันเก็บภาษีน้ำหวานในรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีการเสนอจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ซึ่งนำมาสู่การพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง เมื่อปี 2559 และกระทรวงการคลังได้ศึกษาแนวทางการเก็บภาษีน้ำหวาน
ในขณะที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ได้สำรวจการใช้น้ำตาลในเครื่องดื่ม พบว่า ผสมน้ำตาลเป็นปริมาณมาก โดยชาเขียวรสต้นตำรับ 1 ขวด (ขนาด 500 มล.) มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 8 ช้อนชา
ส่วนชาเขียวรสน้ำผึ้งผสมมะนาว มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยมากที่สุดถึง 13 ช้อนชา สูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก แนะนำที่ 6 ช้อนชาต่อวัน