SHORT CUT
สังคมตั้งคำถาม ความเหลื่อมล้ำของกระบวนการยุติธรรมไทย จากกรณีที่นักโทษคดีทุจริตคอร์รัปชันได้รับการพักโทษและขออนุญาตศาลกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเทียบกับกรณีที่ผู้ต้องหาคดีการเมืองถูกฝากขังต่อเนื่อง ไม่ให้ประกันตัวแม้คดียังไม่สิ้นสุดก็ตาม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองไทย ณ ขณะนี้ต่างจับตาไปจันทร์ส่องหล้าและทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้สังคมไทยตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมไทย
เพราะการกลับมาของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกรวม 8 ปี จาก 3 คดี ได้แก่ คดีสั่งการให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้, คดีหวยบนดิน และคดีแก้ไขสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น
แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียวตั้งแต่ก้าวย่างลงเครื่องบินส่วนตัวที่สนามบินดอนเมือง สู่โรงพยาบาลตำรวจเนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีอาการป่วย มีโรคประจำตัวที่ต้องเฝ้าระวังและต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะขอพระราชทานอภัยโทษเหลือ 1 ปีเนื่องด้วยเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ฯลฯ และสุดท้ายได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษกลับไปรับโทษที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเนื่องจากรับโทษจำคุกมาเป็นระยะเวลา 6 เดือนหรือมากกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษแล้ว อีกทั้งยังเจ็บป่วยเรื้อรังและมีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป และได้ขออนุญาตกรมคุมประพฤติเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิด เพื่อพบแพทย์ทางเลือกและเยี่ยมญาติและไหว้บรรพบุรุษ ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ยืนยันว่าทำได้ตามระเบียบราชทัณฑ์ แค่เพียงห้ามออกนอกประเทศ
เป็นที่สงสัยของหลายฝ่ายถึงความเสนอหน้ากันในการบังคับใช้กฏหมายและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็น พรรคก้าวไกลที่ตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ที่อภิปรายว่าเป็นการ "ติดคุกทิพย์" ในการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในวาระที่หนึ่งและการไปดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจของคณะกรรมาธิการตำรวจ ที่มีรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธานกรรมาธิการฯ
เช่นเดียวกับ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่ยังเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และในวันที่ 25 มีนาคมนี้ วุฒิสภาเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 เพื่อทวงถามประเด็นนี้อีกด้วย
ผู้ต้องหา คือ บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด แต่ยังไม่ได้ดำเนินการฟ้องศาล จึงยังมีโอกาสเป็นผู้บริสุทธิ์ ต่างจากจำเลยที่ขึ้นศาลแล้วและอยู่ในการต่อสู้คดี
ทั้งนี้พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ 48 ชั่วโมง และหากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพาผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลฝากขังไม่เกิน 7 วัน 48 วัน หรือ 84 วัน ตามอัตราโทษไม่เกิน 6 เดือน ไม่เกิน 10 ปี หรือมากกว่า 10 ปีตามลำดับ
ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานสถิติเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีผู้ต้องหาจากการแสดงออกทางการเมืองและคดียังไม่ถึงที่สุด แต่ถูกฝากขังและไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีอย่างน้อย 5 คน บางกรณีถูกคุมขังมาเกือบ 3 เดือน ทั้งที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าผิด ส่วนผู้ต้องขังที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ตัดสินไปแล้ว ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี แต่ศาลไม่ให้ประกันตัวออกมาสู้คดีข้างนอกอีกกว่า 19 คน
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาบางคนใช้วิธีการอดอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรม และเพื่อข้อเรียกร้องอื่นๆ เช่น บุ้ง เนติพร แฟรงค์ ณัฐนนท์ หรือทานตะวัน เป็นต้น แม้จะอดอาหารจนเกิดภาวะทุพโภชนาการ ระดับเกือแร่ในเลือดผิดปกติ หรืออารการเข้าขั้นวิกฤต ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาอยู่ในความดูแลของแพทย์ของโรงพยาบาล และผู้ป่วยปฎิเสธการรักษา ศาลจึงพิเคราะห์ว่า การอดอาหารดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ใช่การป่วย
ประเด็นเหล่านี้ทำให้สังคมตั้งคำถามเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม หรือว่าคุกมีไว้เพื่อขังคนจนและศัตรูทางการเมือง? และยิ่งเป็นประเด็นถกเถียงมากขึ้นเมื่อมีความพยายามเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจากหลายภาคส่วนทั้ง พรรคก้าวไกล พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และภาคประชาชน ว่ากรอบการนิรโทษกรรมการเมืองจะถึงขั้นไหน หรือเอื้อประโยชน์ให้ใครบางกลุ่ม และกีดกันการเข้าถึงความยุติธรรมของคนบางกลุ่มเช่นที่ผ่านมาหรือไม่?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง