SPRiNG ชวนมาส่องดูนโยบาย เรื่องทหารของพรรคก้าวไกล พรรคที่ได้เสียง ส.ส. มากที่สุดในการเลือกตั้ง เลือกนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศ เรื่องการทหาร เรื่องนโยบายทหาร รวมถึงเรื่องการเกณฑ์ทหาร พรรคนี้จะเปลี่ยนโฉมหน้ากองทัพไปอย่างไรบ้าง ?
อีกหนึ่งประเด็นที่ หลังการเลือกตั้ง 2566 ประชาชนสนใจ นั่นคือ เรื่องการทหาร เรื่องนโยบายทหาร รวมถึงเรื่องการเกณฑ์ทหาร
SPRiNG ชวนมาส่องดูนโยบาย เรื่องทหารของพรรคก้าวไกล พรรคที่ได้เสียง ส.ส. มากที่สุดในการเลือกตั้ง เลือกนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศ
1. นายพลเกษียณไม่เกิน 7 ปี ห้ามเป็นรัฐมนตรี
พรรคก้าวไกล มองว่า การทำให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพอย่างแท้จริง กองทัพต้องหยุดเข้ามาแทรกแซงการเมืองโดยสิ้นเชิง ต้องเป็นทหารมืออาชีพ ที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน และปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ความเห็นชอบจากตัวแทนของประชาชน ซึ่งคือรัฐบาลพลเรือนเท่านั้น โดยการ:
แจกใบแดงนายพล ให้ห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นเวลา 7 ปี หลังออกจากราชการ เพื่อให้ไม่มีการแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพ หรือโดยนายพลเกษียณที่ยังคงมีสายสัมพันธ์ในกองทัพ
เปลี่ยนจากระบบบังคับบัญชา เป็นระบบเสนาธิการร่วม ที่มีรัฐมนตรีกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชา เพื่อให้การตัดสินใจต่างๆของเหล่าทัพยึดโยงกับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นการลดโอกาสการก่อรัฐประหารด้วย
ยกเลิกอำนาจพิเศษของกองทัพที่อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือนที่มาจากเสียงของประชาชน อย่างเช่น สภากลาโหม ที่มีอำนาจเหนือรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายทางการทหาร การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ และ การจัดสรรงบประมาณกลาโหม เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
2. ยุบ กอ.รมน. ยกเลิกกฎอัยการศึกชายแดนใต้
พรรคก้าวไกล เพื่อให้ได้รัฐบาลพลเรือนที่อยู่เหนือกองทัพอย่างแท้จริง และเพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ของสันติภาพที่เป็นจริงในทุกพื้นที่ เราจำเป็นต้องเอากิจการที่ไม่ใช่การรบหรือการปกป้องดินแดนออกจากมือกองทัพ เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ ที่ไม่ควรถูกผูกขาดโดยกองทัพ พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้
ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพราะแม้จะเป็นหน่วยงานใต้สำนักนายกรัฐมนตรี แต่โครงสร้างภายในทั้งหมด ล้วนมาจากคนในกองทัพ ถูกใช้เป็นมือไม้ของกองทัพในการสั่งการหน่วยงานรัฐอื่นๆ (เช่น มหาดไทย ศึกษาธิการ สาธารณสุข) จนกลายเป็นสร้าง “รัฐซ้อนรัฐ” ขึ้นมายัดเยียดและขยายนิยามความมั่นคงแบบทหาร มาใช้จัดการความมั่นคงภายใน และเปลี่ยนประชาชนที่เห็นต่างให้กลายเป็นศัตรู
ยุติการใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายสถานการณ์รุนแรงได้จริง เนื่องจากการใช้กฎอัยการศึกมายาวนานกว่า 18 ปี ที่ทำให้พื้นที่ 3 จังหวัดตกอยู่ใน “สภาวะยกเว้น” ทำให้ทหารมีอำนาจเต็ม ทำอะไรก็ได้ เป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อย่างร้ายกาจ (เช่น การประกาศเคอร์ฟิว-ห้ามประชาชนออกนอกบ้าน ทหารบุกตรวจค้นบ้านเรือนโดยไม่ต้องมีหมายศาล) – นอกจากนั้น ยังจำเป็นต้องปรับปรุงกฎอัยการศึกทั้งเนื้อหาและขอบเขตการใช้งาน ให้เป็นไปโดยจำกัดเฉพาะยามศึกสงคราม และไม่ให้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ทั้งหมดนี้จะเป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับกระบวนการสันติภาพที่นำโดยพลเรือน และเป็นการเปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการสร้างสันติภาพที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมและแสวงหาฉันทามติร่วมกันได้
3. ลดขนาดกองทัพ ลดนายพล ยกเลิกเกณฑ์ทหาร
พรรคก้าวไกล ในประเด็น นโยบายทหาร มองว่า ที่ผ่านมา กองทัพไม่เคยชี้แจงถึงเหตุผล-ความจำเป็นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ว่าเพราะอะไรถึงต้องมีอัตรากำลังพลที่มากมาย
พรรคก้าวไกล จะลดขนาดของกองทัพลง โดยการลดกำลังพลในภาพรวมลง 30-40% ซึ่งหมายถึงการลดจำนวนนายพลเหลือ 400 นาย และ ลดจำนวนทหารกองประจำการ เพื่อให้ตอบโจทย์ทางการทหารยุคใหม่ ที่ไม่ได้เน้นการใช้ทหารราบเข้ารบกันอีกต่อไป แต่เป็นการต่อสู้ระยะไกล ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่กำลังคน
พร้อมกันนี้ จะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด โดยสร้างแรงจูงใจผ่านสวัสดิการและความก้าวหน้าทางอาชีพที่ดี
ทั้งหมดเพื่อให้ได้กองทัพที่ทันสมัย เป็นมืออาชีพ และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าภาษีพี่น้องประชาชน
4. เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย ตัดสิทธิพิเศษนายพล
พรรคก้าวไกล ประกาศก่อนการเลือกตั้ง 2566 ว่า จะเพิ่มความคุ้มครองแก่ทหารชั้นผู้น้อยใน 3 ด้านคือ สิทธิมนุษยชน สวัสดิการ และความก้าวหน้าทางอาชีพ เพื่อให้ทหารชั้นผู้น้อยของกองทัพไทย ปลอดภัย มั่นคง มีอนาคต
ปลอดภัย จากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีกลไกการร้องทุกข์และร้องเรียนผู้บังคับบัญชาที่มีกระบวนการที่เป็นธรรมและปลอดภัยต่อตัวผู้ร้อง รวมถึงมีการแก้ พ.ร.บ.วินัยทหาร ที่ให้อำนาจล้นเกินแก่ผู้บังคับบัญชาในการธำรงวินัย
มั่นคง โดยมีรายได้ที่เหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพ โอนตรง-โอนครบ-ไม่มีหัก-ไม่มีทอน มีประกันชีวิต เมื่อพิการหรือเสียชีวิตต้องมีทุนให้กับครอบครัวในการประกอบอาชีพ และมีทุนการศึกษาแก่ทายาทจนกว่าจะมีเงินได้กลับมาเลี้ยงครอบครัว
มีอนาคต โดยการทลายระบบเส้นสาย การเลื่อนขั้น-โยกย้ายต้องเป็น merit system เน้นที่ผลงานมากกว่าอายุงาน ในกรณีพลทหารหรือชั้นประทวน ต้องเพิ่มโอกาสไต่เต้าสู่นายทหารชั้นสัญญาบัตรได้
ในส่วนของนายพล เราต้องตัดงบประมาณที่ใช้ไปกับสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ได้มาจากการเอาตำแหน่งนายพลไปเทียบเท่าอธิบดี จนเป็นสะพานไปสู่การมีสิทธิเรื่องรถประจำตำแหน่ง และเข้ารับตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ เหนือข้าราชการพลเรือน
5. คืนที่ดินกองทัพให้ประชาชน คืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาล
ในส่วนของที่ดิน จากที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศ 12.5 ล้านไร่ กลาโหมถือครองที่ดินมากถึง 6.25 ล้านไร่ หรือครึ่งหนึ่งของที่ราชพัสดุทั้งหมด ซึ่งเต็มไปด้วยคำถามว่าถูกใช้ไปอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจะโอนการถือครองที่ดินเหล่านี้ โดยเฉพาะค่ายทหารที่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่น้อยลงจากการลดขนาดกองทัพ กลับมาเป็นของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อให้การจัดสรรที่ดินเป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ดินค่ายทหารขนาดใหญ่ที่มักอยู่ใจกลางเมือง
ในส่วนธุรกิจกองทัพ ที่เกิดจากการใช้ประโยชน์บนที่ดินราชพัสดุที่กองทัพถือครองอยู่ (ไม่ว่าจะเป็นสนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ ฯลฯ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากคลื่นวิทยุ ซึ่งก็เป็นสาธารณสมบัติเช่นกัน) พรรคก้าวไกลจะโอนถ่ายธุรกิจกองทัพทั้งหมดมาให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแลแทน ในขณะที่สวัสดิการกำลังพล ที่กองทัพอ้างเสมอว่านำมาจากการใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุ ก็ให้ไปขอผ่านสำนักงบประมาณ ผ่านสภาผู้แทนราษฎร เหมือนกระทรวงอื่นๆ
เมื่อก้าวไกล จัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง 2566 ทหารไทยจะไม่เหมือนเดิม
• ไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
• ไม่ถูกธำรงวินัยอย่างป่าเถื่อน
• ร้องทุกข์ได้อย่างปลอดภัย
• เงินเดือน โอนตรง โอนครบ ไม่หัก ไม่ทอน
• หมดยุค ผัก 1 ไร่ ไก่ 1 ตัว
• ทำงานตรงปก ในหน้าที่ทหาร
• มาตรฐานความยุติธรรมเท่ากับพลเรือน
• รับใช้ประเทศ ไม่ใช่รับใช้นายพล
ที่มา พรรคก้าวไกล