svasdssvasds

รีบแสดงความคิดเห็น เก็บภาษีเที่ยวต่างประเทศ

รีบแสดงความคิดเห็น เก็บภาษีเที่ยวต่างประเทศ

กรมสรรพากรอยู่ในระหว่างดำเนินการรับฟังความคิดเห็น "ภาษีเที่ยวต่างประเทศ" รีบทำแบบสอบถามก่อน 17 พฤษภาคม นี้

สายเที่ยวต้องจ่ายเพิ่ม? เพราะล่าสุดทางกรมสรรพากร ได้ประกาศเปิดรับฟังความเห็นทบทวนการเก็บ “ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร” หรือ "ภาษีเที่ยวต่างประเทศ" เพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2526 เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในเรื่องเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย อันเป็นการตรวจสอบความเหมาะสมของเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวในด้านต่าง ๆ

โดยตอนนี้ทุกคนสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ใน เว็บไซต์กรมสรรพากร  (คลิ๊กเลย)

ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม – 17 พฤษภาคม 2566 
 

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร

ล่าสุดวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าว กรณีกรมสรรพากรเตรียมจะเก็บภาษีเดินทางออกนอกราชอาณาจักรนั้น เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในเรื่องเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย อันเป็นการตรวจสอบความเหมาะสมของเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวในด้านต่าง ๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่  19 มกราคม พ.ศ.2564 ที่ได้รับทราบและเห็นชอบการดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทําร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562  ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ไม่ได้เป็นการเตรียมการที่จะจัดเก็บภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด ถึงแม้กฎหมายดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2534 (อ้างอิง กฎกระทรวงเพื่อยกเว้นภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร) พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 กำหนดให้กรมสรรพากรยังคงมีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายโดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในระบบกลางตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว” 
 

ทั้งนี้ถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้ สำหรับอัตราภาษีที่จะต้องเสีย

ได้กําหนดอัตราภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไว้ไม่เกินครั้งละ 5,000 บาท (มาตรา 8) แต่ได้มีการออกกฎกระทรวงกําหนดอัตราภาษีการเดินทางโดยทางอากาศครั้งละ 1,000 บาท และการเดินทางโดยทางบกหรือทางน้ำครั้งละ 500 บาท

การเดินทางโดยทางเครื่องบิน
หากเป็นกรณีปกติ เช่น ซื้อตั๋วโดยสารในประเทศ ให้ชําระต่อผู้ประกอบการขนส่งหรือตัวแทน ซึ่งจําหน่ายตั๋วโดยสารในทันทีที่ซื้อตั๋วโดยสาร
หากมีเหตุจำเป็น เช่น ซื้อตั๋วโดยสารมาจากต่างประเทศให้ชําระต่อ ผู้ประกอบการขนส่งหรือตัวแทนในประเทศไทย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่ท่าอากาศยาน หรือที่สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาท้องที่ที่ท่าอากาศยานตั้งอยู่ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านศุลกากรประจําท่าอากาศยาน
หากเป็นกรณีที่มีการเดินทางทางอากาศโดยการเช่าเครื่องบินเหมาลํา ซึ่งทางสายการบินออกบัตรโดยสารให้เพียงใบเดียว การเสียภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจะต้องเสียตามจํานวนคนที่โดยสาร

การเดินทางโดยทางเรือ
กรณีปกติ ซื้อตั๋วโดยสารในประเทศไทย ให้ชําระต่อผู้ประกอบการขนส่งทางเรือ หรือตัวแทน ซึ่งจําหน่ายตั๋วโดยสารในทันทีที่ซื้อตั๋วโดยสาร
กรณีมีเหตุจำเป็น เช่น ซื้อตั๋วโดยสารมาจากต่างประเทศให้ชําระต่อผู้ประกอบการขนส่ง หรือตัวแทนดังกล่าวในประเทศไทย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านศุลกากรประจําท่าเรือ หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาท้องที่ (เว้นท้องที่ในเขตกรุงเทพมหานคร) ที่ด่านศุลกากรประจําท่าเรือตั้งอยู่

การเดินทางโดยทางรถไฟ
ให้ชําระต่อพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ณ สถานีรถไฟกรุงเทพหรือสถานีรถไฟซึ่งจําหน่ายตั๋วโดยสารให้ทันทีที่ซื้อตั๋วโดยสาร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านศุลกากรประจําพรมแดน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาท้องที่ที่ด่านศุลกากรประจําพรมแดนตั้งอยู่ สำหรับกรณีที่ผู้เดินทางไม่ได้ซื้อตั๋วรถไฟที่กรุงเทพหรือหาดใหญ่


การเดินทางโดยทางอื่น

ให้ชำระต่อผู้ประกอบการขนส่งซึ่งจําหน่ายตั๋วโดยสารให้ทันทีที่ซื้อตั๋วโดยสาร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านศุลกากรประจําพรมแดน หรือ ณ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาท้องที่ที่ด่านศุลกากรประจําพรมแดนตั้งอยู่ สำหรับกรณีที่ไม่มีการซื้อตั๋วโดยสาร

วัตถุประสงค์ พระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2526
เพื่อป้องกัน มิให้มีการนำเงินตราต่างประเทศออกนอกราชอาณาจักรเกินสมควร เพื่อรักษาดุลการชำระเงินของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการจัดเก็บภาษีเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินด้วย