นับถอยหลังเลือกตั้ง 2566 สู่การเข้าคูหาใช้สิทธิเลือกตั้งอีกครั้ง วันนี้จะพาไปย้อนดูสถิติการยุบสภาในประเทศไทย ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากอดีตถึงปัจจุบัน ถ้านับรวมครั้งนี้เท่ากับว่าไทยเคยผ่านการยุบสภามาแล้วรวม 15 ครั้ง
นับถอยหลังเลือกตั้ง 2566 หลังจากที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุวันนี้ (20 มีนาคม 2566) ว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าอาจจะมีการประกาศในวันนี้ ซึ่งสื่อมวลชนได้ไปถามพล.อ.ประยุทธ์ เช่นกันว่าจะมีการประกาศในเวลาใด ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ขอให้รอ”
นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน (2552) บทบัญญัติเรื่องการยุบสภาได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ ยกเว้น
ซึ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับการยุบสภาของรัฐธรรมนูญจะมีหลักการคล้ายกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ไว้ว่า
"มาตรา 108 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า และ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้ย้อนรอยสถิติ "ยุบสภา" ของไทย 75 ปี ตั้งแต่ปี 2481-2556 ได้ใกล้เคียงกัน เมื่อสรุปแล้วพบว่าประเทศไทยมีการประกาศยุบสภามาแล้วทั้งสิ้น 14 ครั้ง (ไม่รวมครั้งล่าสุด ปี 2566)
ครั้งที่ 1 : วันที่ 11 ก.ย.2481
ในรัฐบาล พันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลขัดแย้งกับสภาเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ
ครั้งที่ 2 : วันที่ 15 ต.ค.2488
ในรัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสภายืดอายุมานานในช่วงสงคราม หลังจากได้มีพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2 ครั้ง เนื่องจากไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งในระหว่างสงครามขณะนั้นได้ ทำให้ ส.ส.ชุดดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งนานเกินควร
ครั้งที่ 3 : วันที่ 16 ธ.ค.2516
ในรัฐบาล นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสมาชิกสภานิติบัญญัติลาออกเหลือ 11 คน จนไม่สามารถทำหน้าที่ของสภาได้
ครั้งที่ 4 : วันที่ 12 ม.ค.2519
ในรัฐบาล ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมในขณะนั้นอย่างรุนแรง อันเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน
ครั้งที่ 5 : วันที่ 19 มี.ค.2526
ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ 6 : วันที่ 1 พ.ค.2529
ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลขัดแย้งกับสภากรณีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522
ครั้งที่ 7 : วันที่ 29 เม.ย.2531
ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน เนื่องจากเกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาล ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาล และส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน
ครั้งที่ 8 : วันที่ 30 มิ.ย.2535
ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อยุบสภาภายหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเดือน พ.ค.2535
ครั้งที่ 9 : วันที่ 19 พ.ค.2538
ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล ในหลายพรรคการเมืองและระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจนไม่สามารถจะดำเนินการทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ ประกอบกับมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01)
ครั้งที่ 10 : วันที่ 28 ก.ย.2539
ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล ภายหลังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย.2539 โดยฝ่ายค้านเน้นอภิปรายที่ตัวนายบรรหาร เรื่องประเด็นสัญชาติ เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลมีมติร่วมกันว่าจะขอให้นายบรรหาร ศิลปอาซา ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายบรรหารประกาศจะลาออกภายใน 7 วัน โดยระหว่างนั้นจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นนายกฯ ก่อนจะเปลี่ยนใจประกาศยุบสภาในท้ายที่สุด
ครั้งที่ 11 : วันที่ 9 พ.ย.2543
ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปฏิบัติภารกิจสำคัญแล้วเสร็จหรือลุล่วงลง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540
ครั้งที่ 12 : วันที่ 24 ก.พ.2549
ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการขับไล่นายกรัฐมนตรี จากข้อเรียกร้องในทางการเมือง และได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ถึงแม้รัฐบาลขณะนั้นได้เปิดให้มีการอภิปรายโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภา ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล
ครั้งที่ 13 : วันที่ 10 พ.ค.2554
ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการขับไล่นายกรัฐมนตรี ประกอบกับรัฐสภาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550 ไปเรียบร้อยแล้ว
ครั้งที่ 14 : วันที่ 9 ธ.ค.2556
ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการคัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในปี 2556
และแน่นอนที่สุด เมื่อราชกิจจาประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อใด ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 15 ของประเทศไทยที่มีการประกาศยุบสภา ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สำหรับการ "ยุบสภา" ทุกครั้งจะมีคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เพื่อให้ประเทศไม่เป็นสุญญากาศในการบริหาร แต่รัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง ก็พบว่าแต่ละครั้งของการยุบสภาผู้แทนราษฎรล้วนมีเหตุการณ์และเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุแตกต่างกันไป ซึ่งพอสรุปถึงสาเหตุใหญ่ 3 ประการหลักๆ ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ,ความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล , ปัญหาทางการเมืองหรือวิกฤตการณ์ทางการเมือง
แต่การยุบสภา 2566 ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังการปิดสมัยประชุมสภาแล้ว จึงไม่ได้มีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารแต่อย่างใด น่าจะเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้นักการเมืองในการย้ายพรรค เพื่อให้มีเวลาครบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมากกว่า