วราวุธ ย้ำนโยบาย แก้ไขสิ่งแวดล้อมก่อน เน้น ไม่ให้ตกเป็นภาระลูกหลาน หลังโดนถาม ทำไมประชาชนต้องเลือก พรรคชาติไทยพัฒนา ในรายการเนชั่นสุดสัปดาห์
นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุผ่านรายการ เนชั่นสุดสัปดาห์ Exclusive โดย 3 บก. นายสมชาย มีเสน , นายวีรศักดิ์ พงษ์อักษร และ นายบากบั่น บุญเลิศ ทาง NationTV ช่อง 22 ว่า ความยั่งยืนเป็นนโยบายสำคัญของพรรคชาติไทยพัฒนา จากที่ได้ทำงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกือบ 4 ปี ได้เห็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วเราต้องการทำให้ประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีจากนี้ไป จะต้องสู้กับต่างประเทศได้
ปล่อยเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นภาระลูกหลานไม่ได้
"เพราะเรากำลังเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมคิดถึงความยั่งยืน วันนี้เราต้องเร่งคิดเร่งแก้ไขปัญหาเสียก่อน ถ้าจะโยนให้เป็นภาระของลูกหลาน ผมไม่เห็นด้วย แนวทางการทำนโยบายของพรรค อย่างการเปิดตัว คาร์บอน เครดิต เซ็นเตอร์ เป็นการวางแนวทางแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับรากหญ้า จนถึงระดับสากล ไม่ใช่อะไรที่เพ้อฝัน" นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวต่ออีกว่า "เรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นเรื่องที่เป็นความสนใจระดับโลกอยู่ เกษตรกร เช่น สุพรรณบุรี อยุธยา ก็เริ่มต้นทำแล้ว ในการขายคาร์บอนเครดิต ยอมรับว่านโยบายของชาติไทยพัฒนา อาจจะไม่หวือหวาแบบพรรคการเมืองอื่น ๆ แต่จะอยู่ได้ในระยะยาว เพราเป็นแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหา ทั้งในขณะนี้และในอนาคต ไปพร้อม ๆ กัน"
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ถึงช่วงเลือกตั้ง ผู้สมัครไปสัญญานั่นนี่ แล้วแก้แค่ปัญหาระยะสั้น "วราวุธ" รับไม่ได้
"พรรคชาติไทยพัฒนา จะไม่เพียงแก้ไขปัญหาในขณะนี้ แล้วทิ้งปัญหาในอนาคต จะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ แล้วค่อยไปแก้ปัญหาเอาข้างหน้า ผมจะไม่เอาแบบนั้น"
นายวราวุธ ย้ำว่า ตนเองเบื่อกับการที่เมื่อถึงเวลา(ช่วงเลือกตั้ง)ก็ไปสัญญาแบบนั้นแบบนี้ แล้วสร้างปัญหาให้กับประชาชนในอนาคต ตนต้องการแก้ปัญหา เช่น เปลี่ยนวิธีการทำนา ในแนวคิดการแก้ปัญหาเรื่องคาร์บอน ถ้าเราไม่รีบเปลี่ยนตั้งแต่ตอนนี้ อีกสิบปีเราจะส่งออกไม่ได้ เพราะในอนาคตจะมีการตั้งกำแพงภาษีและเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้การจะเปลี่ยนความคิดไม่ใช่เรื่องง่าย
ขอเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก เป็นเสียงข้างน้อยแล้วบริหารลำบาก
ส่วนเรื่องของท่าทีการร่วมจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องดูเสียงข้างมาก เพราะว่า เวลาการบริหารงานแผ่นดิน ส.ว. ไม่ได้เข้ามาบริหารด้วย เพราะถ้าเป็นเสียงข้างน้อย มันจะไม่เหมือนกับสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ก็อยู่ไม่รอด ด้วยกฎหมายสมัยนั้น กับกฎหมายสมัยนี้ก็ไม่เหมือนกัน แค่เสนองบประมาณแผ่นดินวาระแรก ถ้าท่านเป็นเสียงข้างน้อย แล้วไม่ผ่านความเห็นชอบ ก็ต้องเลือกตั้งกันอีก
นายวราวุธ คาดการณ์ว่า "วันนี้กว่าจะตั้งรัฐบาลได้ก็ต้องเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม เข้ามาก็ต้องรีบพิจารณางบประมาณ ปี 2567 แล้วถ้าเป็นเสียงข้างน้อย มันก็ล่มตลอด พอล่มเสร็จ ก็ต้องเลือกตั้งใหม่ งบประมาณของประเทศมันก็จะล่าช้าไปเรื่อย ๆ ประเทศก็เสียหายไปเรื่อย ๆ มันต้องคิดถึงบริบทว่า จะบริหารประเทศกันอย่างไร"
ไม่ปฎิเสธร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ย้ำขอดูจำนวน ส.ส. ก่อน
เมื่อถามถึงว่า พรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมที่จะจับมือกับพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล นายวราวุธ บอกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมานั่งดูกันว่า เราจะได้กี่เสียง เราเกิดเราได้เยอะเราจะเลือกเขา แต่ถ้าเราได้น้อย เขาจะเลือกเราหรือเปล่า
แก้รัฐธรรมนูญต้องตั้ง สสร. ไม่งั้น ส.ส. เหมือนถูกมัดแขน-ขา
ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่พรรคชาติไทย(ชื่อก่อนถูกยุบและมาตั้งใหม่เป็น พรรคชาติไทยพัฒนา) เคยมีบทบาทในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วคิดว่าจะจัดการอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ ที่คิดว่ายังไม่เป็นประชาธิปไตย นโยบายที่ออกมาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวราวุธ บอกในรายการว่า เป็นนโยบายแรกในสิบนโยบายของพรรค เพราะเรายังเชื่อว่า ปี 2538 ปีที่นายบรรหาร ศิลปะอาชา แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 211 จนเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2540 เรายังเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากเสียงของประชาชนจริงๆ เพราะสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากคนที่หลากหลาย ทุกสถานะเข้ามารวมกัน แต่ฉบับถัด ๆ มา มันมีความไม่สมบูรณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ
จนแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎร เหมือนถูกมัดมือมัดขา ทำอะไรให้พี่น้องประชาชนไม่ได้เลย เข้ามาเกี่ยวข้องในการทำงานที่เกี่ยวกับงบประมาณแทบจะไม่ได้เลย พอทำแบบนี้แล้ว ถามว่า คุณเป็น ส.ส. แล้ว จะเป็นไปเพื่ออะไร
แม้ตามกฎหมาย ส.ส.จะมีหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ความเป็นจริง บริบทของประเทศไทยมันไม่ใช่ ส.ส.เป็นคนที่น้ำไม่ไหล ไฟไม่ติด ทำอะไรไม่ได้คนวิ่งมาหาหมด แล้วถ้า ส.ส.โดนมัดมือมัดขา ไม่สามารถไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการอะไรต่าง ๆ ได้ จะมาดูแลความเป็นอยู่ประชาชนได้อย่างไร นี่คือหัวใจสำคัญ มันมีข้อดีและข้อด้อย
แต่คงต้องมาชั่งน้ำหนักกันว่า สิ่งที่ทำให้ ส.ส. ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ มันก็น่าเป็นห่วงมากกว่า เป็นที่มาว่าเราก็อยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลง ไปแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ควรจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วก็ก่อนจะร่างใหม่ ควรจะตั้งกลไกในการสรรหา สสร. และไม่ใช่สักแต่ว่าให้มีแต่จะต้องมีองค์ประกอบ และรายละเอียด ให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มทุกเพศ ทุกวัย แล้วก็บริบทสังคมไทยสมัยนี้ มันต่างกับเมื่อปี 2538 ต้องเป็นการยกร่างฯที่มาจากประชาชนทุกคนจริงๆ