“หมอธีระ” อ้างอิงงานวิจัยทางวิชาการจากต่างประเทศ ที่ระบุความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของ PM2.5 และความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ซึ่งเป็นของ นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัย 18 ชิ้นทั่วโลกที่รวบรวมโดย Sheppard N และคณะ จากมหาวิทยาลัยโมนาร์ช ประเทศออสเตรเลีย ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ ความเชื่อมโยงของ โควิด-19 และ PM2.5
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หมอธีระ เผยข้อมูลใหม่ ติดโควิดร่วมกับไข้หวัดใหญ่ เสี่ยงตายสูงขึ้น 2.35 เท่า
หมอธีระ เตือน เตรียมรับมือ "Long Covid" ระลอกใหญ่ ห่วงนำไปสู่ความพิการ
หมอธีระ เผยผลวิจัย BA.2.75.2 ดื้อกว่าสายพันธุ์อื่น มีโอกาสระบาดระลอกถัดไป
พบว่า ฝุ่น PM.2.5 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ หากสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 ในสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (μg/m3) จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 66%
ทั้งนี้ระบุว่า จากการวิจัยต่างๆ ที่มีนั้น แม้จะยังฟันธงถึง cause-effect relationship ไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดของการออกแบบแต่ละการวิจัย แต่อย่างน้อยก็สะท้อนถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะมีฝุ่นหรือไม่มีก็ตาม จากความรู้ที่เราเคยมีอยู่ว่า หากอยู่ในพื้นที่ หรือสถานที่ที่ระบายอากาศไม่ดี อากาศนิ่ง ย่อมมีโอกาสสูงที่เชื้อโรคจะแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นาน และทำให้คนในพื้นที่หรือสถานที่นั้นมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น
โดยเมื่อวาน (17 พ.ย. 65) จากสถิติพบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ทั่วโลกมีเพิ่ม 261,086 คน ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 636 คน รวมทั้งหมดแล้วมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวน 641,763,345 คน และมีเสียชีวิตรวมทั้งหมด 6,620,975 คน
ประเทศ 5 อันดับแรกที่มียอดติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ไต้หวัน และฮ่องกง
นพ.ธีระ จึงย้ำเตือนให้มีการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ประมาท การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนดจะช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID
ที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน ทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยว จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก