หมอธีระ แนะ วิธีตรวจ ATK ในกลุ่มเสี่ยง "ติดโควิด" ให้แม่นยำ ตรวจครั้งแรกเจอผลลบ ไม่แสดงอาการควรทำอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะไปแพร่เชื้อให้คนอื่น
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ประเด็นสถานการณ์โควิด-19 และการปฏิบัติตัวหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง "ติดโควิด" วิธีตรวจ ATK ให้ได้ผลแม่นยำในกรณีที่ตรวจแรกเป็นลบ และไม่แสดงอาการ
สถานการณ์ระบาดของไทยจากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
ทบทวนความรู้สำหรับปฏิบัติตัว "การตรวจ ATK"
หากป่วย มีอาการสงสัยโควิด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูกน้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว
1. ตรวจด้วย ATK หากได้ผลบวกสองขีด โอกาสเป็นโควิด-19 จริงสูง ให้แยกตัวจากคนอื่น และทำการดูแลรักษา
2. หากตรวจ ATK แล้วได้ผลลบ อย่าวางใจ อาจเป็นผลลบปลอม (คือติดเชื้ออยู่ แต่ตรวจได้ผลลบ) ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งใน 48 ชั่วโมงถัดไป ถ้าได้ผลบวก ก็เข้าสู่กระบวนการแยกตัวและดูแลรักษา
3. หากตรวจสองครั้งแล้วได้ผลลบ แต่ยังมีอาการป่วยหรือสงสัย ควรตรวจด้วย ATK อีกครั้งในอีก 48 ชั่วโมง หรือไปตรวจ RT-PCR หรือปรึกษาแพทย์
สำหรับคนที่มีประวัติสัมผัสหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อ แต่ยังไม่มีอาการ...
หากตรวจ ATK แล้วได้ผลลบในครั้งแรก อย่าชะล่าใจ ควรตรวจซ้ำในอีก 48 ชั่วโมง และแม้จะยังได้ผลลบอีกครั้ง ก็ควรตรวจซ้ำเป็นครั้งที่สามในอีก 48 ชั่วโมงถัดมา
"การแยกตัวหลังจากทราบว่าติดเชื้อ"
ความรู้ทางการแพทย์ชัดเจนว่า จะปลอดภัยหากแยกตัวไป 2 สัปดาห์ (14 วัน)
การแยกตัว 5 วันไม่เพียงพอ เพราะกว่าผู้ป่วยกว่า 50% จะยังสามารถตรวจพบเชื้อและอาจแพร่ให้แก่คนใกล้ชิดและคนอื่นในสังคมได้
การแยกตัว 7 วัน โอกาสหลุดยังสูงถึง 25%
การแยกตัว 10 วัน โอกาสหลุด 10%
ดังนั้นหากแยกตัวน้อยวัน ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ให้คนใกล้ชิดและคนอื่นๆ
หากจำเป็นต้องทำมาหากิน หรือศึกษาเล่าเรียน อาจกลับมาใช้ชีวิตได้หลังแยกตัว 7-10 วัน โดยต้องแน่ใจว่า"ไม่มีอาการแล้ว และตรวจ ATK อีกครั้งแล้วได้ผลลบ" ทั้งนี้ระหว่างการใช้ชีวิต ต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากาก N95 หรือเทียบเท่า และระมัดระวังเรื่องการสังสรรค์ กิน ดื่มร่วมกับผู้อื่นจนกว่าจะครบสองสัปดาห์
...การทำงาน การศึกษาเล่าเรียน และการใช้ชีวิตประจำวัน ในช่วง Transition เช่นนี้ หากใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตร ก็จะประคับประคองให้ผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้
ผสมผสานการใช้ชีวิตออฟไลน์ ออนไลน์ ออนไซต์ รีโมท โดยปรับแต่งให้เหมาะสมกับชีวิต เหมาะสมกับงาน เหมาะสมกับสถานที่
ใช้ความรู้ในการหาแนวทางป้องกันสำหรับตัวเรา กิจการของเรา และกิจกรรมที่เราทำ ทั้งการปฏิบัติตัว และการปรับสภาพแวดล้อม
เหนืออื่นใด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก...
ที่มา : Thira Woratanarat