สัญญาณที่ดีของคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา กำลังจะมา...กรมชลประทาน ชี้ น้ำเหนือ ณ เวลานี้ น้ำท่วม 65 เริ่มทรงตัวแล้ว แนวโน้มลดลง สถานการณ์ต่อจากนี้จะดีขึ้นตามลำดับ
กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (ณ วันที่ 13 ตุลาคม 2565) เวลา 12.00 น. ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 3,059 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ซึ่งจะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรังอีก 334 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา
เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของบานระบายน้ำและตัวเขื่อน ประกอบกับระดับน้ำเหนือเขื่อนขณะนี้อยู่ที่ +17.71 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก) สูงกว่าระดับเก็บกัก 1.21 เมตร (+16.50 ม.รทก.)
ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 3,169 ลบ.ม./ต่อวินาที ขณะที่ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เฉลี่ยอยู่ที่ 3,100 ลบ.ม./วินาที
สำหรับสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (วันที่ 13 ตุลาคม 2565) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,094 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่างฯ รวมกัน
ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก งดการระบายน้ำตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ที่ต้องเจอกับน้ำท่วม 65 ด้านเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ปรับการระบายขึ้นมาเล็กน้อย 30 ลบ.ม./วินาที จากเดิมที่งดการระบายน้ำในช่วงเดียวกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทุบสถิติ! เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำสูงสุดในรอบปี ที่ 3,175 ลบ.ม./วินาที
เฝ้าจับตาติดตามสถานการณ์น้ำ ตามเขื่อน น้ำระบาย น้ำท่วมหรือไม่ ? เช็กเลย
ส่วนอีก 2 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีน้ำเกินความจุอ่างฯ ได้แก่ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 952 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 101 ของความจุอ่างฯ ยังคงอัตราการระบายน้ำเท่าเดิมกับวานนี้ (12 ต.ค) 150 ลบ.ม./วินาที และที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 1,052 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 110 ของความจุอ่างฯ วันนี้ลดการระบายน้ำจากวานนี้ในอัตรา 820 ลบ.ม./วินาที
กรมชลประทาน ปรับการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ เสริมศักยภาพในการเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด
นั่นหมายความว่า สถานการณ์ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อจากนี้ไป จะทรงตัวและเริ่มดีขึ้น ตามลำดับซึ่งสอดคล้องกับความเห็นกับ ชวลิต จันทรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ ที่ได้ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ลุ่มเจ้าพระยา ในภาพรวมดีขึ้น ยกเว้นในพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ที่เป็นแอ่ง น้ำก็จะอยู่ยาวถึงปลายเดือนตุลาคม
ในบางพื้นที่อาจถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งบริเวณไหนที่ท่วม ถ้าไม่ใช่พื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำ ก็เป็นเพราะปัญหาฝนตกแล้วระบายไม่ทัน หลังจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง (7 – 11 ต.ค.) สถานการณ์ก็จะดีขึ้น ฝนจะเริ่มน้อยลง เพราะลมหนาวมาแล้ว”