ทำความรู้จัก Christchurch Call เรียนรู้หลักปฏิบัติ หลังจากนิวซีแลนด์ เจอเหตุกราดยิง ครั้งรุนแรง เมื่อปี 2019 รัฐบาลต่างๆ และ โลกออนไลน์ จำกัดความรุนแรงอย่างไร และมีมาตรการรับมืออย่างไร ? .
จากเหตุสะเทือนขวัญ กราดยิงหนองบัวลำภู ซึ่งนำมาซึ่งน้ำตาและความสูญเสียมากมาย เรื่องนี้ จะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของประเทศไทย ในหลากหลายมิติ ทั้งปัญหาความรุนแรงในชีวิต มาตราการการป้องกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องอาวุธ เรื่องของความเครียด รวมถึงเรื่องราวของ อดีตตำรวจผู้ก่อเหตุร้ายครั้งนี้
และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ ที่คนทุกคน สื่อทุกสื่อ เจ้าหน้าที่ทุกคน ควร "ตระหนัก" และให้ความสำคัญ นั่นคือ เรื่องการนำเสนอถ่ายทอด เหตุการณ์ความรุนแรง จะต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า จะต้องไม่ผลิตซ้ำ ไม่ทำ ไม่ผลิตเนื้อหาซ้ำเติม ญาติผู้เคราะห์ร้าย และ การละเมิดสิทธิของทุกชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ....ซึ่งเหตุการณ์ ความรุนแรงในเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญของโลก ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน นั่นก็คือเหตุการณ์ กราดยิงมัสยิดไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ เมื่อปี 2019
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กองทุนสื่อ ขอความรวมมือสื่อ ระมัดระวังในการนำเสนอข่าวกราดยิง
เปิดสถิติสาเหตุ ตำรวจฆ่าตัวตาย ปัญหาใหญ่จากสุขภาพกายใจ-หนี้สินท่วม
• Christchurch Call คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
15 มีนาคม 2019 เหตุการณ์กราดยิงนิวซีแลนด์ ในวันนั้น จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ ผู้นำประเทศ ได้รับเสียงชื่นชมไปทั่วโลกจากการรับมือโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของประเทศ และภายหลังจากเหตุการณ์สั่นคลอนจิตใจครั้งนั้น 2 เดือน จาซินดา อาร์เดิร์น ผลักดัน แนวคิด Christchurch Call เพื่อยับยั้งการเผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งในโลกออนไลน์
Christchurch Call ถือเป็นคำมั่นจากรัฐบาลและบริษัทเทคโนโลยีที่จะกำจัดการก่อการร้ายและแนวคิดที่รุนแรงบนออนไลน์ สร้างการวางใจว่า ระบบอินเทอร์เน็ตแบบเสรี เปิดกว้างที่มีความปลอดภัย จะสร้างประโยชน์อย่างมากให้กับสังคม บนพื้นฐานการให้ความเคารพต่อการแสดงออก อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครที่มีสิทธิสร้างและแชร์การก่อการร้ายและเนื้อหาหรือแนวคิดที่รุนแรงบนออนไลน์
เหตุการณ์กราดยิงมัสยิดไครสต์เชิร์ช ตอกย้ำให้เห็นถึงความเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการและกระชับความร่วมมือจากรัฐบาล ภาคประชาสังคม ผู้ให้บริการออนไลน์ เช่น บริษัทโซเชียลมีเดีย เพื่อกำจัดการก่อการร้ายและเนื้อหาที่รุนแรงบนออนไลน์
หลักการไครสต์เชิร์ช คือ ประกอบด้วยข้อตกลงร่วมกันอย่างสมัครใจของรัฐบาลและผู้ให้บริการออนไลน์ ในการที่จัดการกับการก่อการร้ายและเนื้อหาที่รุนแรงบนออนไลน์ และเพื่อป้องกันการใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ผิด ดังที่เกิด ขึ้นกับเหตุการณ์กราดยิงไครสต์เชิร์ช
การดำเนินการเรื่องนี้ต้องมีความสม่ำเสมอและสอดคล้องกับหลักการของการมีอินเทอร์เน็ตเสรี เปิดกว้างและปลอดภัย ยืนหยัดในหลักการสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออก และจัดให้สมรรถนะของอินเทอร์เน็ตเป็นแรงผลักดันสำหรับการส่งเสริมนวัตกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เท่าเทียม
.
นอกจากนี้ จากเหตุการณ์ กราดยิงนิวซีแลนด์ ครั้งนั้น ทำให้ จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ เรียกร้องให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมมือกันสกัดกั้น พร้อมกำหนดแนวทางในการลบเนื้อหาดังกล่าวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนป้องกันไม่ให้การถ่ายทอดสดแบบ live stream ถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนและเผยแพร่การก่อการร้าย ซึ่ง ณ เวลานั้น ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เป็นอีกผู้นำประเทศชั้นนำ ที่ร่วมผลักดันข้อปฏฺิบัติเหล่านี้ด้วย
• 54 ประเทศและสื่อออนไลน์ สนับสนุน ไม่เผย ผลิตซ้ำ ส่งต่อความรุนแรง
การขับเคลื่อน Christchurch Call หลังจากมีเหตุการณ์ กราดยิงมัสยิดในไครสต์เชิร์ช มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปัจจุบันที่มีรัฐบาลถึง 54 ประเทศ (อาทิ สหรัฐฯ,สหราชอาณาจักร , นิวซีแลนด์ , ญี่ปุ่น , ออสเตรเลีย , อินโดนีเซีย เป็นต้น แต่ไม่มีประเทศไทย) ควบคู่กับคณะกรรมาธิการยุโรป สภายุโรป United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO) และบริษัทผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่ ทั้ง Amazon, Facebook, Google, Microsoft, Dailymotion, Twitter, YouTube และ Qwant ให้การสนับสนุน Christchurch Call
ขณะที่ความร่วมมือ Global Internet Forum to Counter Terrorism (GIFCT) ซึ่งก่อตั้งโดยบริษัท Facebook, YouTube, Twitter และ Microsoft เมื่อปี 2560 ได้ถูกปรับปรุงให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น และเป็นกลไกสำคัญใน Christchurch Call ที่คอยป้องกันผู้ก่อการร้ายหรือผู้มีแนวคิดหัวรุนแรงใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่แนวคิดที่เป็นภัยคุกคามในทุกรูปแบบ
เชื่อหรือไม่ว่า ในขณะเดียวกัน ก็มีการทำงานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยขับเคลื่อนแนวคิดสุดโต่งและการก่อการร้ายในโลกออนไลน์มากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเข้าใจถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ดีขึ้น
การเผยแพร่แนวคิดสุดโต่งบนโลกออนไลน์เป็นปัญหาระดับโลก นับตั้งแต่ โลกออนไลน์ได้รับความนิยมและถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในโลกในช่วง 15 ปีหลังมานี้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงการสกัดกั้นหรือเพิกถอนเนื้อหา แต่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปสกัดกั้นหรือบรรเทาต้นตอที่ก่อให้เกิดการผลิตเนื้อหาในลักษณะดังกล่าวเป็นอันดับแรก ซึ่งประชาชนและภาคประชาสังคมจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างสรรค์สังคมที่ตระหนักถึงภัยคุกคามและร่วมต่อต้านแนวคิดสุดโต่งอย่างยั่งยืน
ขณะที่ในไทย ก็เริ่มมีการตระหนัก ต่อเรื่องราวความรุนแรงแบบนี้เช่นกัน อาทิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอความกรุณาสื่อมวลชนทุกแขนง ระมัดระวังในการนำเสนอข่าวกราดยิงศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู ด้วยขอปฏิบัติ อาทิ
.
1. ไม่ควรลงรายละเอียด
2. ไม่ควรลงรายชื่อ
3. ไม่ควรลงรูปภาพ
4. ไม่ควรไปสัมภาษณ์
5. ไม่ควรไปทำแผนประกอบคำสารภาพ
6. ไม่สัมภาษณ์ผู้ต้องหา
ดังนั้น เมื่อโลกหมุนมาถึงจุดตรงนี้แล้ว ขอให้พึ่งตระหนักไว้เสมอว่า...คนทุกคนนั้น มีสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ...ไม่เว้นแม้กระทั่ง ผู้ที่เสียชีวิต ไปแล้ว ขอความร่วมมือ งดแชร์ งดส่งต่อ ภาพ-คลิป เหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู รวมถึงทุกๆเหตุการณ์ที่สะท้อนความรุนแรง และละเมิดสิทธิของคนอื่น โดยเฉพาะผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว...
ที่มา https://www.rnz.co.nz/news/political/442616/christchurch-call-second-anniversary-summit-gets-underway