ส.อ.ท. จับมือ อบก. ร่วมลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต พร้อมเปิดตัว FTIX แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต
วันนี้ (21 ก.ย. 2022) สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ร่วมกันจัดพิธีลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต พร้อมกับเปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตด้วย หรือ FTI : CC/RE/REC X Platform (FTIX) ในงาน “ลงมือทำ ลดโลกร้อน : ทางรอด ทางรุ่ง ของโลก ของไทย” Take Climate Action : Save The Earth, Prosper All ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม ซี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัรลพลาซา ลาดพร้าว
อย่างที่ทราบกันดีว่า ไทยได้เดินหน้าให้ความร่วมมือกับทั่วโลกในการจัดการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ไทยได้ร่วมลงนามในข้อตกลงปารีส (Paris’s Agreement) เพื่อให้ไทยเดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและเมือง Net Zero หลายภาคส่วนจึงต้องร่วมมือกันปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด เพื่อให้อุณหภูมิของโลกไม่สูงไปมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งตอนนี้เราอยู่กันที่ 1.2 องศาเซลเซียส
นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อตระหนักถึงปัญหาที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออก ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จึงได้จัดหน่วยงานใหม่ขึ้นมาคือ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ และช่วยขับเคลื่อนการนำนโยบายของภาครัฐไปสู่การปฏิบัติ ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 หรือ ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ. 2608 หรือ ค.ศ. 2065 ของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คาร์บอนเครดิต คืออะไร? ทำไมหลายประเทศจึงต้องเร่งสร้างคาร์บอนเครดิต?
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เตรียมลงนามผลักดันตลาดคาร์บอนเครดิต
วราวุธเตรียมหารือกระทรวงคลังฯ เตรียมปลูกป่าเพิ่มคาร์บอนเครดิต
คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกการตลาดที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจและเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการในการลดก๊าซเรือนกระจก ส.อ.ท. มีการดำเนินงานร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จากความร่วมมือที่มีมาอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ส.อ.ท. และ อบก. จึงมีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินกิจกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนตลาดคาร์บอนภายในประเทศ จึงเป็นที่มาของการลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตในครั้งนี้
นอกจากนี้ ส.อ.ท. ได้พัฒนาและบริหารจัดการแพลตฟอร์ม FITX ขึ้นเพื่อประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบของ อบก. นอกจากนี้ยังรับซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) รวมถึงการซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC อีกด้วย
โดย ส.อ.ท. ได้ยื่นแพลตฟอร์ม FTIX นี้เข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox 2 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อทดสอบระบบของตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้มีความโปร่งใสและเชื่อถือได้ โดยที่อุตสาหกรรมทุกขนาด ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จะสามารถเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทำการเปิดตัวแพลตฟอร์ม FITX พร้อมกับศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต
พิเศษไปกว่านั้น การจัดงานในครั้งนี้เป็นไปในรูปแบบของ Green Event โดยมีการควบคุมอุณหภูมิห้องไม่ให้ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส จึงขอให้ผู้เข้าร่วมงานงดการใส่สูท และเปลี่ยนมาใส่เสื้อเชิ๊ตฮาวายและเสื้อยืดแทน โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจาก “โครงการเซ็นทรัลทำ”
นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือจากทาง อบก. ในการคำนวนปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากงานนี้ด้วย อีกทั้งได้รับการอนุเคราะห์จากกลุ่มบริษัทพลังงานสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ Energy Absolute (EA) และกลุ่มบริษัทซุปเปอร์ เอ็นเนอร์ยี บริจาคคาร์บอนเครดิตรวมกันเป็นจำนวน 260 ตันคาร์บอนเทียบเท่า ซึ่งสามารถ Offset หรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการจัดงานนี้ทั้งหมด
งานนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยกล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ดินโคลนถล่ม รวมถึงน้ำท่วมใหญ่ในเกาหลีใต้และปากีสถาน โดยประเทศไทยนั้นได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับ 21 ของโลก (ประมาณ 0.8% ของโลก) แต่ดันเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ซึ่งดูไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย
เพื่อให้ไทยเดินหน้าเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ ประเทศไทยจึงต้องปรับปรุง “ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย” หรือ LT-LEDS ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (The 2nd updated NDC) ที่ 40% ในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งประเทศไทยสามารถดำเนินการได้เอง 30% แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศเพิ่มอีก 10%
ส่วนแนวทางและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เช่น
โดยทั้งหมดนี้ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงาน 6 ด้านด้วยกัน ได้แก่ (1) ด้านนโยบาย (2) ด้านเทคโนโลยี (3) ด้านการเงินและการลงทุน (4) ด้านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต (5) ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บ/ดูดกลับก๊าซเรือนกระจกและ (6) ด้านกฎหมาย
ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย ที่ดำเนินการโดย ส.อ.ท. มีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นระบบฐานข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศ สามารถติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของประเทศที่ภาครัฐสามารถนำมาเชื่อมโยงกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ ตลอดจนมีการลงทุนในเทคโนโลยีที่สามารถลด GHG
ดังนั้น แพลตฟอร์มการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศสำหรับการใช้กลไกราคาคาร์บอนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการแลกเปลี่ยนคุณค่าของคาร์บอนเครดิตซึ่งกันและกัน สร้างความโปร่งใส ยุติธรรม และน่าเชื่อถือในระดับสากลของตลาดคาร์บอน รวมทั้งสามารถสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย “Together Possible” ทุกอย่างเป็นจริงได้เสมอ