กอนช. ประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา หลังกรมอุตุฯคาดจะมีฝนตกหนัก 12-17 ก.ย.นี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศเตือนเรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างวันที่ 16 -17 ก.ย.นี้ โดยพื้นที่เสี่ยงประกอบไปด้วย ชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์จะมีฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 12 - 17 กันยายน 2565 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• กอนช. สำรวจพนังกั้นน้ำลุ่มเจ้าพระยา เข้มแผนบริหารจัดการน้ำ รับมือฝนตกหนัก
• กอนช. เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม กทม. เตือนทั่วไทยเสี่ยงน้ำท่วม
• กทม. เตือน 4 เขตเฝ้าระวังน้ำท่วม หลังระดับน้ำคลองประเวศบุรีรมย์เพิ่มขึ้น
โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 1,900 - 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 1,800 – 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่15 กันยายน 2565
จากปริมาณน้ำดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.40 – 0.60 เมตร ในช่วงวันที่ 16 - 17 กันยายน 2565 บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้เตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า
2. เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบ ต่อประชาชนได้ทันที
3. ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์