ต้องสังเวยอีกกี่ชีวิตมนุษย์จึงจะจำ บทเรียนสัตว์ถูกสังหารเพราะพฤติกรรมมนุษย์และกรณีตัวอย่างวอลรัสนอร์เวย์ถูกสังหารเพราะคนไม่ปฏิบัติตามกฎ ที่ผ่านมามีบทเรียนอะไรบ้าง
อย่างแรกเลยต้องขอแสดงความเสียใจ ต่อการจากไปของเฟรยา วอลรัสชื่อดังของชายฝั่งออสโล ประเทศนอร์เวย์ เพราะเธอถูกการุณยฆาต อันเนื่องมาจากคนไม่ปฏิบัติตามกฎ และคำเตือนจากทางการ และสัตว์อีกหลายตัวที่จะยกมาเป็นตัวอย่างในบทความนี้
เฟรยา เป็นหนึ่งในเหยื่อของความคึกคะนองของมนุษย์ พยายามเข้าไปใกล้ชิด เข้าไปถ่ายรูป ให้อาหารมากจนเกินพอดี จนรบกวนชีวิตประจำวันของมัน รวมถึงเปลี่ยนพฤติกรรมสัตว์ให้ดุร้ายขึ้น ความเคยชินในการให้อาหารสัตว์ตามสถานที่ธรรมชาติหรือในสวนสัตว์ไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะจะสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับสัตว์ได้
เฟรยา ไม่ใช่สัตว์ตัวแรกที่เป็นเหยื่อของการกระทำของมนุษย์ที่ไม่ระมัดระวังเหล่านี้ หลายปีที่ผ่านมาสัตว์น้อยใหญ่ต้องสังเวยชีวิตไปอย่างไร้เดียงสา Springnews จึงขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ประมาทของมนุษย์ในสวนสัตว์ให้ได้ทราบกันว่าสุดท้ายแล้ว ใครกันที่เป็นผู้สูญเสีย และเราเห็นอะไรจากเหตุการณ์เหล่านี้
ในปี 2016 ประเทศชิลี มีชายอายุ 20 ปีคนหนึ่งเปลือยกายกระโดดเข้าไปในกรงสิงโตของสวนสัตว์ Chilean zoo เพื่อหวังจะให้สิงโตกินเขาเพื่อหวังฆ่าตัวตาย ท่ามกลางเสียงกรีดร้องของคนดูที่กำลังชมสิงโตอยู่ แน่นอนสิงโต 2 ตัว ตัวหนึ่งเป็นตัวเมีย ตัวหนึ่งเป็นตัวผู้ก็เร่งเข้าไปหาเขาและเล่นกับเขาทันที การตัดสินใจที่บ้าระห่ำของชายคนนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ตัดสินใจยิงสิงโตทั้ง 2 ตัวจนตายเพื่อช่วยชีวิตเขา และต่อมาสื่อทางการก็ทราบมาว่า ชายดังกล่าว หนีออกมาจากโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้สวนสัตว์ด้วยอาการทางจิตและพบจดหมายลาตายในเสื้อผ้าของเขา
คำให้การของสวนสัตว์กล่าวว่า ‘ที่ต้องสังหารเพราะว่าชีวิตมนุษย์สำคัญกว่าสำหรับเรา’
รูปภาพและวิดีโออาจมีเนื้อหาที่รุนแรง กดดูได้ที่ >>> Suicide by LION
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
นอร์เวย์สั่งการุณยฆาต เฟรยา วอลรัสผู้โด่งดังเพราะผู้คนไม่ปฏิบัติตามกฎ
ยื้อไม่ไหว ฝรั่งเศสจำใจการุณยฆาตวาฬเบลูกา หลังติดในแม่น้ำแซนนาน 1 สัปดาห์
เมื่อโลมาไม่อยู่เคียงคู่ธารา หลังโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายจากไป บอกอะไรบ้าง?
ในปี 2016 ประเทศจีน ชายชาวจีนคนหนึ่งพยายามเข้าไปถ่ายรูปเซลฟี่และวิดีโอใกล้ ๆ กับวอลรัสในสวนสัตว์ Xixiakou Wildlife Park ในมณฑลซานตง ทางเหนือของจีน แต่เขาก็ไม่ทันระวัง วอลรัสเข้าทางด้านหลังของเขาและกระชากเขาลงน้ำอย่างแรง รวมไปถึงกัดแกว่งเขาไปมาอย่างรวดเร็ว ท่ามกลายสายตาคนดูมากมาย
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ที่ดูแลมันคนหนึ่ง ก็พยายามเข้าช่วยเหลือ แต่สุดท้ายก็ถูกดึงและและกวัดแกว่างไปด้วยเช่นกัน จนท้ายที่สุดทั้งคู่เสียชีวิต มีหลายคนวิจารณ์ว่า สวนสัตว์ไม่มีรั้วกั้นเพียงพอระหว่างฝูงชนกับสัตว์ หลายคนตำหนิทางสวนสัตว์ว่าไม่มีเซฟตี้ รวมไปถึงมีการแสดงความเห็นในเชิงว่า “ทุก ๆ ครั้งที่ฉันเห็นนักท่องเที่ยวเข้าไปถ่ายรูปข้างๆ สัตว์ฉันมักกังวลและกลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุแบบนี้เสมอ และมันก็เกิดขึ้นจริง”
คดีจบลงที่สวนสัตว์รับผิดชอบด้วยการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนเงิน 900,000 หยวน หรือ 4-5 ล้านกว่าบาทไทยและมีรายงานด้วยว่า ชายชาวจีนคนดังกล่าวละเลยมาตรการความปลอดภัยและเข้าใกล้มันมากเกินไป
และอีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งโด่งดังมาก ๆ เช่นเดียวกันในปี 2016 คือ เหตุการณ์พลัดตกลงไปในกรงกอริลลาของเด็กชายคนหนึ่ง กรงนั้นเป็นของกอริลลาหลังเงินที่ชื่อ ฮารัมเบ (Harambe)อายุ 17 ปี ในสวนสัตว์ซินซินฮาติ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เด็กชายวัย 4 ขวบเกิดพลัดตกลงไปในกรงของกอริลลา ท่ามกลางเสียงกรีดร้องของแม่เด็กและผู้คนที่เป็นห่วงความปลอดภัยของเด็ก
ในช่วงแรกฮารัมเบดูยังงง ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่หลังจากเห็นเด็กชายมันก็รีบวิ่งเข้าไปคว้าตัวเด็กและพายังมุมหนึ่ง และก็มองไปยังเสียงโดยรอบเสมือนกับว่ามันอยากปกป้องเด็กคนนี้จากเสียงคนแปลกหน้าเหล่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถเข้าช่วยเด็กได้ เพราะมันก็มองว่าเจ้าหน้าที่ก็อันตรายต่อเด็กด้วย สุดท้ายมันถูกเจ้าหน้าที่ยิงและเสียชีวิตลงในที่สุด
ด้านแม่ของเด็ก ต้องเจอกับข้อหาอาชญากรรมโดยประมาท เธอกล่าวว่า ฉันดูแลลูกอย่างใกล้ชิดแล้ว แต่ก็ไม่คิดว่าอุบัติเหตุแบบนี้จะเกิดขึ้น แต่ฉันก็ขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือลูกของเธอ
เด็กชายไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด เพราะเขาอยู่กับกอริลลาประมาณ 10 นาทีที่มันปกป้องเด็กชายไว้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จนถึงขั้นมีการรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรมให้กับฮารัมเบเลยด้วย ทั้งโลกได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อการจากไปของกอริลลาที่ตกเป็นเหยื่อของความประมาทนี้
แต่อีกด้านหนึ่งของผู้ดูแลฮารัมเบกล่าวว่า เธอสังเกตพฤติกรรมของมันและดูออกว่ามันไม่ได้พยายามปกป้องเด็ก แต่มันใช้วิธีการนี้ข่มขู่คน เพราะเสียงกรีดร้องที่ดังเกินไปและสาเหตุที่ไม่ใช้ยาสลบเพราะว่า ยาต้องใช้เวลาออกฤทธิ์นาน ซึ่งมันไม่ไวพอที่จะช่วยเหลือหนูน้อยได้ เพราะอาจไม่ทันการ และเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็เสียใจต่อการจากไปของมันเช่นกัน
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ เคยเกิดขึ้นจริงในปี 2016 และสัตว์เหล่านี้ต้องมาจากไปเพราะความประมาทของมนุษย์ที่มองว่า พวกมันสามารถเข้าถึงได้ คงไม่เป็นอันตรายมากเท่าไหร่ และการรักษาความปลอดภัยที่หละหลวม ในความเป็นจริง การรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับอันตรายที่แท้จริงในสวนสัตว์ปัจจุบัน ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยดีนัก ในบางครั้งเจ้าหน้าที่ทุกคนไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมสัตว์ให้เป็นดั่งใจได้
ทุก ๆ ช่วงวันหยุด ผู้คนมักหลั่งไหลไปตามสวนสัตว์หรือสถานที่ตามธรรมชาติ เพื่อเยี่ยมชมความน่ารักของสัตว์ในกรงและพื้นที่เปิดหลายแห่งทั่วโลก แม้จะรู้อยู่บ้างแล้วว่า อุบัติเหตุแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่ก็ไม่เคยมีการกล่าวถึงกรณีแบบนี้มากนักในวารสารทางวิทยาศาสตร์
ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่เกี่ยวกับการละเมิดกฎแบบนี้อยู่เยอะมาก แต่ยังไม่มีข้อกำหนดหรือการฝึกที่เพียงพอกับเรื่องนี้ รวมไปถึงการประมาทเลินเล่อของผู้ปกครองที่พาลูกหลายไปสวนสัตว์ ลองสังเกตดูสักนิดว่าพฤติกรรมของลูกหลานเป็นอย่างไร พวกเขาจะทำอะไรได้บ้างขณะไปเที่ยว ควรจับตาดูแลอย่างใกล้ชิดพร้อมสอนวิธีการเข้าใกล้สัตว์อย่างถูกต้องด้วย รวมไปถึงเจ้าหน้าผู้ดูแลสัตว์จะต้องคอยให้คำแนะนำ แก่ผู้เยี่ยมชมให้ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด และหวังว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก
คุณล่ะคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้?
ที่มาข้อมูล
https://www.akerufeed.com/trend-life/zookeeper-explains-harambe-amanda-odonoughue-cincinnati-zoo