ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศ ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุให้ “การส่งใบสั่งทางไปรษณีย์”ให้พนักงานจราจรส่งใบสั่งลงทะเบียน พร้อมพยานหลักฐานภายใน 30 วัน หากพ้น 15 วัน ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งแล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 ก.ค. 2565
จากกรณีที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีแนวทางในการบังคับใช้กฎหมาย "ใบสั่งค่าปรับจราจร" หรือ ใบสั่งออนไลน์ ไม่จ่ายระวังเจอ หมายจับ กับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจราจร และไม่มาชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
ล่าสุด เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ “ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ พ.ศ. 2565” โดยเนื้อหาระบุว่า
มาตรา 14 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้กรณีเจ้าพนักงานจราจรที่ออกใบสั่ง ไม่พบตัวผู้ขับขี่ ให้ติด ผูก หรือแสดงใบสั่งไว้ที่รถที่ผู้ขับขี่สามารถเห็นได้ง่าย
หากไม่สามารถติด ผูก หรือแสดงใบสั่งไว้ที่รถได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ส่งใบสั่งพร้อมด้วยพยานหลักฐานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองเพื่อให้ชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนดในใบสั่ง ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับกับกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรพบการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกหรือกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง แต่ไม่อาจทราบตัวผู้ขับขี่ โดยอนุโลม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• สรุปให้...ใบสั่งไม่จ่ายค่าปรับ ระวังเจอหมายจับถึงบ้าน จริงไหม?
• หนุ่มไม่จ่ายใบสั่งเกือบ 50 ครั้ง ปล่อยเลยตามเลย สุดท้ายตำรวจตามรวบถึงบ้าน
• หนุ่มงง! นั่งคร่อม จยย. โทรศัพท์โดนใบสั่ง ชี้ตามกฎหมายถือว่าผิด
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 140 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
• ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ พ.ศ. 2565”
• ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป
• ข้อ 3 การส่งใบสั่งตามมาตรา 140 วรรคสอง กรณีเจ้าพนักงานจราจรที่ออกใบสั่งไม่พบตัวผู้ขับขี่และไม่สามารถติด ผูก หรือแสดงใบสั่งไว้ที่รถได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด และตามมาตรา 140 วรรคสาม กรณีไม่อาจทราบตัวผู้ขับขี่ ให้ส่งใบสั่งพร้อมพยานหลักฐานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถ ภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานจราจรพบการกระทำความผิด และให้ถือว่าเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งนั้น เมื่อพ้นกำหนด สิบห้าวัน (15วัน) นับแต่วันส่ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พูดถึงประเด็น "ใบสั่งค่าปรับจราจร" ระบุว่า กรณีผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรและไม่มาชำระค่าปรับ อีกทั้งกระทำความผิดซ้ำ เพิ่มปัญหาอุบัติเหตุและปัญหาการจราจรมากขึ้น
บช.น.ได้ร่วมหาแนวทางให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งได้ข้อสรุปในการดำเนินการ คือ เมื่อพบผู้กระทำผิดจะออกใบสั่ง 3 รูปแบบ ได้แก่
• การเขียนใบสั่งเล่ม
• ใบสั่งจากภาพกล้องวงจรปิดส่งไปทางไปรษณีย์
• ใบสั่งจากเครื่อง E-TICKET
เมื่อออกใบสั่งไปแล้ว แต่ผู้กระทำผิดไม่มาชำระค่าปรับ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกหนังสือเตือน 1 ครั้ง หลังจากนั้นหากยังไม่ชำระค่าปรับอีก จะมีการแจ้งความดำเนินคดี และออกหมายเรียกไปยังผู้กระทำความผิด 2 ครั้ง หากไม่มาจ่ายอีก จะเสนอศาลเพื่อขออนุมัติออกหมายจับ