svasdssvasds

สธ.ยันผลตรวจต่างชาติ 10 รายไม่ใช่ "ฝีดาษวานร" แค่เชื้อเริม คาดติดจากสนามมวย

สธ.ยันผลตรวจต่างชาติ 10 รายไม่ใช่ "ฝีดาษวานร" แค่เชื้อเริม คาดติดจากสนามมวย

กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรอย่างเข้มข้น เน้นย้ำมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองผู้ป่วยในสนามบินนานาชาติ โรงพยาบาล และคลินิกเฉพาะ เผยสถานการณ์ในไทย ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานร แต่พบผู้ป่วยสงสัยทั้งหมด 10 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสเริม คาดติดจากในสนามซ้อมมวย

 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรอย่างเข้มข้น ทั้งในสนามบินนานาชาติ โรงพยาบาล และคลินิกเฉพาะ โดยสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยัน แต่ได้รับรายงานจากด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ และจากโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน พบผู้ป่วยสงสัย รวม 10 ราย ทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ และตรวจไม่พบเชื้อฝีดาษวานร

 ซึ่งในจำนวนนี้ 6 ราย ได้รับการยืนยันการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลพบเชื้อไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus type 1) และทั้ง 6 ราย มีประวัติเชื่อมโยงกับการซ้อมมวยในสนามฝึกซ้อมมวยที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต และกระบี่ และอีก 4 ราย เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• คกก.โรคติดต่อ กำหนด "โรคฝีดาษวานร" เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังลำดับ 56

• สรุปให้...ทำไม ฝีดาษวานร ถึงไม่น่ากลัว? รู้จักการปลูกฝี ปลูกเพื่ออะไร?

• หมอ ธีระวัฒน์ เผย ใครติดฝีดาษลิงอาการไม่หนัก อาจต้องกักตัวนาน 2 เดือน

 ทั้งนี้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้ประสานให้คำแนะนำสนามฝึกซ้อมมวยที่พบผู้ป่วยทุกแห่ง ให้ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออุปกรณ์ฝึกซ้อมและสถานที่เป็นประจำ หากผู้ที่มาฝึกซ้อมมวยมีอาการป่วย โดยเฉพาะมีผื่น หรือตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนอง ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางและร่วมกิจกรรมเสี่ยง รวมถึงเน้นย้ำให้บุคลากรทาง การแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขช่วยกันเฝ้าระวังการระบาดของโรคไวรัสเริม หรือ Herpes Simplex Virus ในพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

 ด้านนายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการสอบสวนโรคเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยสงสัยรายล่าสุด ทางศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรณีฝีดาษวานร ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 65

 พบผู้ป่วยสงสัย เพศชาย อายุ 21 ปี อาชีพนักมวย ชาวออสเตรเลีย มาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 65 มีประวัติได้ไปซ้อมมวยที่สนามฝึกซ้อมมวยแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปทุมธานี เริ่มมีไข้ ไอ เจ็บคอ และเริ่มมีผื่นแดง ตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง บริเวณใบหน้า ลำคอ และแขน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยืนยันตรวจไม่พบเชื้อฝีดาษวานร ทั้งนี้กำลังเร่งตรวจหาสาเหตุของโรค และกล่าวเน้นย้ำว่า โรคฝีดาษวานรติดต่อได้ยากกว่าโรคโควิด 19 เพราะต้องมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อ ซึ่งเป็นระยะที่ปรากฏอาการแล้ว เช่น มีไข้ ตุ่มหนองตามผิวหนัง

 สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. - 22 มิ.ย. 65 พบผู้ป่วยยืนยันแล้ว 3,157 ราย จากทั้งหมด 45 ประเทศ สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานรรายแรก ในประเทศสิงคโปร์ เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ชาวอังกฤษ อายุ 42 ปี มีประวัติเดินทางมาสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 15-17 มิ.ย. 65 และกลับมาอีกครั้งวันที่ 19 มิ.ย. 65 เริ่มมีอาการปวดศีรษะ วันที่ 14 มิ.ย. และมีไข้วันที่ 16 มิ.ย. อาการหายไปแล้วมีผื่นขึ้นวันที่ 19 มิ.ย. จึงเข้ารับการตรวจทาง tele-consultation ในคืนวันนั้น ถูกส่งตัวไปสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NICD) และตรวจพบเชื้อวันที่ 20 มิ.ย.

โดยทำการค้นหาผู้สัมผัส (contact tracing) พบผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 13 ราย อยู่ระหว่างการกักตัว 21 วัน และผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำอีก 2 ราย อยู่ระหว่างติดตามอาการป่วยทุกวันเป็นเวลา 21 วัน ซึ่งนับเป็นผู้ป่วยติดเชื้อมาจากพื้นที่อื่น (imported case) ที่ทางหน่วยงานด้านสาธารณสุข สิงคโปร์ ดำเนินการควบคุมโรค และประเมินเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติไปในสถานที่เดียวกับผู้ป่วยยืนยันด้วย

related