กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนังให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวความแตกต่างของ โรคฝีดาษลิงกับโรคติดเชื้อ จากไวรัสอื่นๆ ที่พบรอยโรคเป็นตุ่มน้ำ และที่มีอาการใกล้เคียงกัน พร้อมอธิบายถึงการอาการแสดงการผิวหนัง การรักษา ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ฝีดาษลิง (monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากสัตว์ ซึ่งมีอาการแสดงในมนุษย์คล้ายคลึงกับฝีดาษหรือไข้ทรพิษ โดยโรคมีรายงานอุบัติการณ์เกิดการระบาดในประเทศแถบทวีปแอฟริกา เนื่องในปัจจุบันมีการเดินทางข้ามทวีป ทำให้มีการเกิดการระบาดของโรคฝีดาษลิงส่วนอื่นของโลก เช่น ยุโรป และอเมริกา ฝีดาษลิง มีการรายงานครั้งแรกในมนุษย์ในปี 1970
อาการของโรคฝีดาษลิง
มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต นำมาก่อนตามด้วยอาการแสดงทางผิวหนัง ได้แก่ แผลในปากตามด้วย ผื่นแดง ตุ่มแดง ตุ่มน้ำ ที่อาจมีรอยบุ๋มเล็กๆ ตรงกลาง และต่อมากลายเป็นตุ่มหนองแล้ว จึงจะตกสะเก็ดโดยที่รอยโรค มีการเปลี่ยนแปลงพร้อมๆ กันจำนวนรอยโรค อาจมีได้ตั้งแต่ 2 - 3 ตุ่ม จนถึงมากกว่า 100
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• WHO เผย "ฝีดาษลิง" ระบาดหนัก แพร่ 2 สายพันธุ์พร้อมกัน รุนแรงกว่าโควิด
• คกก.โรคติดต่อ กำหนด "โรคฝีดาษวานร" เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังลำดับ 56
• "หมอล็อต" เผยผลตรวจโรคลิง 2.5 หมื่นตัวในไทย ไม่พบเชื้อ "ฝีดาษลิง"
ด้านแพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความแตกต่างของโรคฝีดาษลิง และโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสอื่นๆ ที่พบรอยโรคเป็นตุ่มน้ำ คือ ไข้ทรพิษ เริม สุกใส และงูสวัด โรคที่แยกจากฝีดาษลิงได้ยากที่สุด คือ ไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ ซึ่งมีอาการนำคล้ายกันคือ ไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดหลัง
แต่ในฝีดาษลิงมักพบต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย ขณะที่ไข้ทรพิษมักมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ปวดท้องได้มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับโรคติดเชื้อจากไวรัสอื่นที่พบได้บ่อยกว่า เช่น โรคสุกใส พบกว่าลักษณะของอาการแสดงทางผิวหนังแม้จะมีความคล้ายคลึงกันระหว่างโรคฝีดาษลิง และโรคสุกใส โดยที่เริ่มจากเป็นผื่นแดงเล็กๆ กลายเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง ที่กระจายทั่วตัว ตามลำดับ แต่ในฝีดาษลิงและไข้ทรพิษ การกลายของแต่ละระยะของรอยโรค จากผื่นแดง เป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ด รอยโรคจะอยู่ในระยะเดียวกัน ขณะที่ในโรคสุกใส รอยโรคแต่ละตำแหน่งจะมีการเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ทำให้ผู้ป่วยอาจจะพบรอยโรคในทุกระยะในเวลาเดียวกันได้
โรคติดเชื้อไวรัสอื่นที่มีอาการแสดงทางผิวหนังเป็นตุ่มน้ำ เช่น งูสวัด และ เริม รอยโรคมักจะไม่มีการกระจายตัวไปทั่ว โดยงูสวัดจะอยู่ในแนวของเส้นประสาทและเริม มักมีรอยโรคเป็นกลุ่มในบริเวณเล็ก ๆ เท่านั้น จึงมีความแตกต่างจากโรคฝีดาษลิง
อย่างไรก็ตาม กรณีโรคฝีดาษลิงที่มีรอยโรคเล็กน้อยในบริเวณแคบๆ ที่ไม่กระจายตัว อาจจะแยกได้ยาก จากโรคกลุ่มนี้ ทำให้ต้องอาศัยการตรวจพิเศษเพิ่มเติมและการแยกชนิดเชื้อด้วยวิธีการพิเศษทางห้องปฏิบัติการ สำหรับโรคการติดเชื้อไวรัสที่ออกผื่น เช่น หัด หัดเยอรมัน ไข้เลือดออก ลักษณะอาการทางผิวหนัง มักจะเป็นผื่นแดง
การพบตุ่มน้ำนั้นเกิดได้น้อยมาก ทำให้สามารถแยกโรคจากโรคฝีดาษลิงได้ หากมีอาการดังกล่าว เเนะนำให้รีบมาพบเเพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยเเละรับการรักษาจากเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที