มติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบยกเลิกร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เขตติดโรคนอกราชอาณาจักร และพิจารณาโรคฝีดาษวานรให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ลำดับที่ 56 ขณะเดียวกันหารือกับหน่วยงานควบคุมโรคสหรัฐฯ ถึงความเป็นไปได้วัคซีนโรคฝีดาษวานร
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิตร ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยหลังการประชุม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงข้อสรุปในประชุมวันนี้ว่า คณะกรรมการฯ มติเห็นชอบการพิจารณาร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคโควิด19 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกฏหมายให้ชัดเจน เพราะไทยเปิดประเทศมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นการทำให้เดินทางเข้าไทย ได้ตามปกติ และตามมาตรการคัดกรอง เช่น เกณการฉีดวัคซีน
นอกจากนั้น ยังมีการพิจารณาร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
โดยให้จัดโรคฝีดาษวานร เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ลำดับที่ 56 โดยเห็นชอบให้กองระบาดวิทยา กำหนดแนวทางในการเฝ้าระวัง โรคฝีดาษวานร ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• "หมอล็อต" เผยผลตรวจโรคลิง 2.5 หมื่นตัวในไทย ไม่พบเชื้อ "ฝีดาษลิง"
• หมอยง ยัน "ฝีดาษลิง" หายได้เอง ยังไม่พบผู้เสียชีวิต แต่คุมระบาดได้ยาก
• โรคฝีดาษลิง ลาม 42 ประเทศ ยอดติดเชื้อกว่า 900 ไทยเจอเข้าเกณฑ์สงสัย 6 ราย
ส่วนสถานการณ์การระบาดโควิด-19 จากมาตรการผ่อนคลายในเปิดสถานบันเทิงผับบาร์ หลังผ่านมา 6 วัน มีการประเมิน สถานการณ์การแพร่ระะบาดยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ยังคงต้องติดตามต่อเนื่อง
ส่วนเรื่องวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร นพ.โอภาส ระบุว่า ประเทศไทยได้มีการหารือกับหลายประเทศ โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้มีการพูดคุยกับรองผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาได้มีการเตรียมวัคซีนฝีดาษวานรไว้แล้ว หากมีวัคซีนฝีดาษวานรรุ่นใหม่จะแจ้งให้กับประเทศไทยทราบ เบื้องต้นเป็นการหารือในข้อมูลหลักการของโรค ว่าไทยมีความสนใจ หากมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยเราก็มีความต้องการรับทราบข้อมูล
ทั้งนี้ เดิมวัคซีนที่มีการนำมาใช้เป็นวัคซีนโรคฝีดาษทั่วไปที่ใช้ในคน จากนั้นมีการนำวัคซีนชนิดดังกล่าวมาทดสอบใช้กับฝีดาษวานร โดยอยู่ในขั้นตอนการทดลอง
ส่วนวัคซีนฝีดาษวานรโดยตรง อยู่ในช่วงของการพัฒนาจากบริษัทวัคซีนทั่วโลก โดยล่าสุด องค์การเภสัชกรรม ได้ประสานกับบริษัทวัคซีนจากต่างประเทศ ประมาน 2 บริษัท ถึงความเป็นไปได้ในวัคซีนฝีดาษวานร โดยอยู่ระหว่างการติดตามความก้าวหน้าโดยไทยได้แสดงเจตจำนงค์เรียบร้อยแล้ว ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพความปลอดภัย รวมไปถึงผลข้างเคียงและพิจารณาสถานการณ์การระบาด เพื่อนำไปสู่การเตรียมจัดหา
สำหรับการพัฒนาวัคซีนฝีดาษวานร อยู่ในช่วงต้นของการศึกษาและพัฒนา เมื่อเทียบกับโควิด-19 โรคฝีดาษวานรติดเชื้อช้ากว่า และความรุนแรงน้อยกว่า ย้ำบุคคลทั่วไปยังไม่มีความจำเป็นต้องรับวัคซีน แต่อาจจะพิจารณาเป็นบางกลุ่มเฉพาะ ตอนนี้กรมควบคุมโรคอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์