หมอยง ชี้ประเทศไทยมีโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคฝีดาษลิง ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่การกระจายโรคจะไม่หนักเหมือนโควิด สิ่งสำคัญที่ต้องระวังคือ คนกับสัตว์เลี้ยง ถ้าคนนำเชื้อฝีดาษลิงไปให้สัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยงจะเป็นพาหะและนำไปสู่สัตว์ประจำถิ่น
โรคฝีดาษลิง หรือ monkeypox กำลังลุกลามอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีการเปิดเผยว่า ทั่วโลกมีการติดเชื้อเกือบถึง 1,000 รายแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และลุกลามไปมากกว่า 42 ประเทศ ขณะที่ไทย เจอเข้าเกณฑ์สงสัยแล้ว 6 ราย
ล่าสุด ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า
ฝีดาษลิงที่กำลังระบาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือนมีผู้ป่วยที่ยืนยันแล้วร่วม 600 คน ในประเทศต่างๆเกือบ 30 ประเทศแล้ว การแพร่กระจายครั้งนี้เป็นการแพร่กระจายนอกทวีปแอฟริกาที่มากที่สุด
ผู้ป่วยเกือบทั้งหมด เป็นเพศชาย (98%) เป็นเพศหญิง (แท้) น้อยมาก ซึ่งต่างจากการระบาดในแอฟริกาจะเป็นเพศชายประมาณ 2 ใน 3 เป็นเพศหญิงประมาณ 1 ใน 3
อายุที่ระบาดในครั้งนี้จะอยู่ระหว่าง 20 ถึง 50 ปี ซึ่งต่างจากในแอฟริกา พบทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• โรคฝีดาษลิง ลาม 42 ประเทศ ยอดติดเชื้อกว่า 900 ไทยเจอเข้าเกณฑ์สงสัย 6 ราย
• กรมควบคุมโรค หวั่น ฝีดาษลิง ไทยอาจเจอรายแรก ในงานไพรด์พาเหรด
• ด่วน! สธ. พบผู้ป่วยฝีดาษลิง เดินทางพักเครื่องที่ไทย 1 ราย สัมผัสเสี่ยง 12 ราย
การระบาดของฝีดาษลิงในครั้งนี้มีการแพร่กระจายมาก จาก การเฉลิมฉลอง ที่มีการจัดขึ้นที่สเปน และเบลเยียม และสถานซาวน่า ในสเปน และโปรตุเกส ประเทศที่พบโรคนี้มากที่สุดคือประเทศสเปน รองลงมาคืออังกฤษและโปรตุเกส
รอยโรคที่พบ จะพบอยู่ในร่มผ้า หรือบริเวณที่ลับ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ซึ่งแตกต่างจากผู้ป่วยในแอฟริกา
การเฉลิมฉลองเทศกาลมีการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด จึงเป็นปัจจัยหนึ่งในการสัมผัสและติดต่อ โรค
จากข้อมูลทั้งหมด ประเทศไทยจึงเป็นประเทศหนึ่ง ที่มีโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคฝีดาษลิง ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่อำนาจการกระจายของโรคยังต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับโควิด โอกาสที่จะระบาดใหญ่แบบโควิดจึงไม่มี จะระบาดอยู่จำเพาะกลุ่ม
สิ่งสำคัญที่ต้องระวังคือ คนกับสัตว์เลี้ยง ถ้าคนนำเชื้อฝีดาดวานรไปให้สัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยงจะเป็นพาหะและนำไปสู่สัตว์ประจำถิ่นโดยเฉพาะ หนู กระต่าย กระรอก แล้วเมื่อนั้นจะเป็นโรคประจำถิ่น
ที่มา : Yong Poovorawan