Open Data เพื่อความโปร่งใส กทม. ชวนคนกรุงเทพฯ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างฯ งบรายจ่ายประจำปี 66 เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดการใช้งบประมาณ กทม.มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้มีการเปิดเผยข้อมูลร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร เว็บไซต์ http://data.bangkok.go.th/organization/20000000 ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย Open Data Open Bangkok ของนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการสร้างความโปร่งใส และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดการใช้งบประมาณ กทม.มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2566 รวมทั้งสิ้น 79,000,000,000 บาท ได้จำแนกงบตามหมวดรายจ่าย ดังนี้ งบบุคลากร 17,568,399,310 บาท (22.24%) งบดำเนินการ 17,701,722,793 บาท (22.41%) งบลงทุน 10,383,088,891 บาท(13.14%) งบเงินอุดหนุน 5,272,268,680 บาท(6.67%) งบรายจ่ายอื่น 13,703,787,726 บาท(17.35%) และงบกลาง 14,370,732,600 บาท (18.19%)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ชัชชาติ" จ่อเปิด OPEN DATA แจ้งพิกัด PM2.5 พร้อมเดินหน้าโครงการนักสืบฝุ่น
"ชัชชาติ" ลงพื้นที่ชุมชนบ่อนไก่ ที่เกิดเพลิงไหม้กว่า 1 ชั่วโมง
ทั้งนี้เมื่อแบ่งออกตามด้าน 9 ด้าน จะพบว่า ร่างฯงบประมาณปี 2566 แบ่งเป็นด้านการจัดบริการของสำนักงานเขต 50 เขต มากที่สุด 18,865 ล้านบาท (23.88%) รองลงมาคือด้านการบริหารจัดการและบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 16,282 ล้านบาท (20.61%) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11,090 บาท (14.04%) ด้านเมืองและการพัฒนาเมือง 11,072 ล้านบาท (14.01%) ด้านสาธารณสุข 2,417 ล้านบาท (3.06%) ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง 944 ล้านบาท (1.20%) ด้านการศึกษา 644 ล้านบาท (0.81%) ด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ 194 ล้านบาท (0.25%) และสุดท้ายด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 166 ล้านบาท (0.21%) ตามลำดับ
กรุงเทพมหานครจึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของกรุงเทพมหานคร ผ่านทางสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในเขตพื้นที่ ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะนำเข้าสู่วาระการประชุมสภากรุงเทพมหานครในวันพุธที่ 6 ก.ค.65 นี้ นับว่าเป็นมิติใหม่ของการทำงานอย่างเปิดเผย เพื่อให้กระบวนการตัดสินใจต่างๆ มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก