svasdssvasds

เพิ่มความดิจิทัล ให้ กทม. ประชาชนได้อะไร ?

เพิ่มความดิจิทัล ให้ กทม. ประชาชนได้อะไร ?

หลังจากที่ “ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม. หารือ DGA และ ก.พ.ร. เพิ่มความโปรงใสและพัฒนาระบบบริการประชาชน SPRiNG จะชวนดูว่า ถ้าทำกรุงเทพให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ประชาชนได้อะไร ?

ในอดีตประชาชนมีส่วนรู้เห็นน้อยมากกับกระบวนการของราชการ ทั้งการจัดซื้อ-จัดจ้าง ทำให้เหิดช่องโหว่ในการทุจริต ใช้ดุลยพินิจ หากไม่มีสื่อนำเสนอหรือไม่เป็นที่สนใจของสังคม ดังนั้นการทำให้ราชการมาอยู่บนโลกดิจิทัลมากขึ้นจะทำให้ประชาชนมีส่วนตรวจสอบภาครัฐได้มากขึ้น

โดยเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมความร่วมมือด้านบริการดิจิทัล ภาครัฐ ร่วมกับ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) (DGA) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร) โดยนางสาว อ่อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

โดยในการหารือ มีเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน การเพิ่มความโปร่งใส และลดขั้นตอนต่างๆ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการทำกระบวนการต่างๆ ให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นเพื่อให้การบริการประชาชนดีขึ้น ลดการใช้ดุลยพินิจของบุคคล และพยายามเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้มากขึ้น

OPEN DATA สร้างความโปรงใสให้ราชการ

OPEN DATA หากสรุปสั้น ๆ คือข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาให้นำไปใช้ต่อได้ เช่น ใช้ตรวจสอบ ใช้พัฒนาบริการต่าง ๆ และใช้ต่อยอดไปยังสิ่งอื่น ๆ ซึ่งตัว OPEN DATA นี้ถ้าเป็นในส่วนของภาครัฐ คือการเปิดเผยรายละเอียดต่าง ๆ ให้ประชาชนตรวจสอบ เช่น รายละเอียดการจัดซื้อ-จัดจ้าง เบิกเก้าอี้กี่ตัว แฟลชไดร์ฟอันละกี่บาท , สัญญาต่าง ๆ ที่ภาครัฐทำแล้วไม่เป็นความลับ

เรื่องแรกที่ผู้ว่าฯ กทม. จะร่วมมือ คือ นำข้อมูลต่าง ๆ มาทำให้เป็น Open Data เปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ ผ่านระบบของ DGA

ชัชชาติ ระบุว่า กทม.จะเริ่มต้นด้วยการนำข้อมูลงบประมาณประจำปี 2566 เปิดเผยขึ้นเว็บไซต์ กทม.พร้อมลิงค์ไปที่เว็บไซต์ของ DGA เพื่อให้ประชาชนเห็นข้อมูลงบประมาณว่าใช้เกี่ยวกับอะไร รวมทั้งเรื่อง Open Contract โดยนำสัญญาต่างๆ ที่เปิดเผยได้มาเปิดเผยเพื่อให้เห็นความโปร่งใสและแนวทางว่าเป็นอย่างไร  ขณะเดียวกัน ก.พ.ร. ก็มีแอพพลิเคชันที่ Consul ที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นและโหวตในเรื่องต่างๆ ได้ เพื่อให้กระบวนการตัดสินใจต่างๆ มีความโปร่งใส

เบี้ยยังชีพ เช็กง่ายขึ้น

เรื่องที่ 2 สิทธิประโยชน์ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถตรวจสอบในเรื่องของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเบี้ยคนพิการได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งมีการเชื่อมข้อมูลกับกรมบัญชีกลาง ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลของตนเองได้ ขณะเดียวกันก็มีระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) สำหรับการขอใบอนุญาตต่างๆ ทางออนไลน์ ซึ่งต่อไปจะรวมถึงเรื่องการขอใบอนุญาตก่อสร้างด้วย สามารถทำให้เกิดความโปร่งใสในการพิจารณาและสามารถขออนุญาตออนไลน์ได้

ใบจบดิจิทัล แก้ปัญหาปริญญาปลอม

เรื่องที่ 3 การพัฒนาเอกสารหลักฐานทางการศึกษารูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) สำหรับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมด รวมทั้งโรงเรียนฝึกอาชีพทุกแห่ง โดยต่อไปคนที่เรียนจบจะได้รับ Digital Transcript ไปสมัครงาน หรือเรียนต่อ ได้อย่างสะดวกและไม่ถูกปลอมแปลงเอกสาร

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

คลังความรู้ออนไลน์

เรื่องที่ 4 การสนับสนุนการพัฒนาทักษะบุคลากรกรุงเทพมหานครด้านดิจิทัล DGA จะร่วมสนับสนุน อาจมีการจัดแคมป์ร่วมกันเพื่อพัฒนาอาสาสมัครเทคโนโลยีของกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยประชาชนให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของภาครัฐ นอกจากนี้ GDA มีแหล่งเรียนรู้สำหรับข้าราชการกรุงเทพมหานครทุกคนที่จะเข้ามาพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง  ด้าน ก.พ.ร. ก็มีหลายโครงการที่กทม. เข้าร่วมได้ อาทิ โครงการประกวดประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน การจัดการขยะที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น ซึ่งหลายเรื่องดำเนินการได้ทันที และจะมีการหารือกันทุกเดือนเพื่อติดตามความก้าวหน้าในเรื่องต่างๆ

"ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีเป็นตัวสำคัญที่เป็นการใช้งบประมาณไม่มาก แต่ว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการได้อย่างมาก" ชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าฯ กทม. มองต่ออีกว่า ในอนาคตการขอใบอนุญาตสามารถทำให้เป็น One Stop Service หรือ Super license ที่สามารถขอใบอนุญาตหลายใบในครั้งเดียวโดยไม่ต้องทำหลายกระบวนการ จะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่หรือผู้ที่อยากจะทำธุรกิจมีความสะดวกมากขึ้น และเพิ่มความโปร่งใส ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ลง 

ขณะนี้กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการพัฒนาระบบศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร (BMA OSS) หรือ One Stop Service ให้ประชาชนใช้บริการขอใบอนุญาตออนไลน์ คาดว่าจะพร้อมให้บริการประชาชนในช่วงปลายปี 65