สิ่งที่ สื่อมวลชน หรือ Content Creators ควรรู้ ในการทำเนื้อหา เมื่อ Google ปรับอัลกอริทึมครั้งใหญ่ ปรับอะไรบ้าง มีข้อห้ามอะไรบ้าง เหมือนหรือต่างจากเดิมอย่างไร เช็กเลย
ปัจจุบัน สื่อมวลชน หรือ ผู้ผลิตสื่อที่ในโลกออนไลน์ หรือที่เรียกตัวเองว่า Content Creators ต้องมีการปรับตัว ปรับปรุงเนื้อหาสิ่งที่ตนเองผลิตอยู่ตลอดเวลา เพราะอัลกอริทึมบนแพลตฟอร์มต่างๆ มีการปรับอยู่เสมอๆ เพราะทุกๆแพลตฟอร์มต่างก็ต้องการ ให้แพลตฟอร์มของตนเองมีทิศทางที่ชัดเจน และมีประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้ (ผู้อ่าน)
ฝั่ง Google กำลังจะมีการปรับอัลกอริทึมครั้งใหญ่ ซึ่งการปรับครั้งนี้ น่าจะสั่นสะเทือนวงการสื่อมวลชน รวมถึงวงการผู้ผลิต วงการ Content Creators เป็นอย่างมาก โดยเวลานี้เว็บไซต์ Google ประกาศ จะปรับอัลกอริทึมบน Google Search ครั้งใหญ่ โดยใช้ชื่อว่า Helpful content update โดยการปรับครั้งนี้ มีจุดประสงค์จะให้ความสำคัญให้น้ำหนักกับคอนเทนต์ Content (เนื้อหา) ที่เขียนหรือผลิตขึ้นเพื่อคนอ่าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กล่าวคือ...การปรับ Google Search ครั้งนี้ จะ ลดความสำคัญของเว็บไซต์ที่เป็น SEO ล้วนๆ ลดความสำคัญของบทความหรือข้อเขียนที่ไม่ได้มุ่งเน้นประโยชน์แก่คนอ่าน (หมายเหตุ Search Engine Optimize หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า SEO คืออะไร ? SEO คือ การทำเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพ และรองรับการติดอันดับบน Google ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการออกแบบ และเนื้อหาบนเว็บไซต์ การทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับบน Google จะทำให้เว็บไซต์นั้นๆ มีคนเข้ามาชมมากขึ้น เป็นร้านค้าอันดับต้นๆ ที่ลูกค้าเลือกซื้อ และทำให้ยอดขายของธุรกิจคุณเพิ่มขึ้น)
แต่ในทางกลับกัน การทำ SEO ที่เป็นบทความเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะ ผู้พัฒนา Google ก็ยังระบุว่า การทำ SEO ที่ดี ที่เหมาะสม จริงๆ จะเป็นตัวเพิ่มมูลค่า ให้กับหน้าเว็บไซต์ ให้กับการค้นหา
ผู้พัฒนา Google ให้เหตุผล ว่าที่ต้องปรับเปลี่ยนอัลกอริทึม Google ซึ่งเรียกว่า Helpful content update ครั้งนี้ เหตุผลเพราะต้องการจะช่วยให้ผู้ใช้งาน ผู้อ่านหรือคนที่เสิร์ชหาข้อมูลได้รับ “คอนเทนต์เนื้อหาที่มีคุณภาพสูง” ทางแพลตฟอร์มเว็บไซต์ Google ต้องการให้รางวัล กับคอนเทนต์เนื้อหาที่มีประโยชน์กับมนุษย์ หรือ ผู้ใช้ นั่นเอง และเว็บไซต์พวก เว็บคลิกเบท ก็จะถูกลดทอนคุณค่า ลดทอนคะแนนลงไป
ขณะที่บทความ SEO ที่ทำมาให้บอทดิจิทัล อ่านมากกว่ามนุษย์อ่านนั้น ในช่วงหลังก็เริ่มจะถูกวิจารณ์จากผู้ใช้ เพราะเมื่อเสิร์ชคำค้นใดๆ ไปก็มักจะคลิกไปเจอบทความที่น่าหงุดหงิดใจเหล่านี้
อัลกอริทึมใหม่ของ Google จึงพยายามจะตัดคะแนนเว็บไซต์จำพวกนี้ และช่วยสนับสนุนเว็บไซต์ที่มีประโยชน์จริงมากขึ้น “นี่เป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะลดคอนเทนต์คุณภาพต่ำ และทำให้การค้นหาคอนเทนต์ที่มีประโยชน์และเป็นต้นฉบับแท้จริงทำได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้ใช้เสิร์ชเอ็นจิ้น
โดย Google จะเพิ่มความสำคัญให้กับผลการค้นหาที่ “เขียนโดยคน” และ “เขียนให้คนอ่าน” กล่าวในอีกทางหนึ่งคือ เนื้อหาที่ด้อยคุณภาพจะถูกลดลำดับความสำคัญหรือถูกคัดครองออกไป ดังเช่นที่พบเห็นได้บ่อยคือ การใช้คีย์เวิร์ดดัก SEO ด้วยจุดประสงค์ในการดันยอดทราฟฟิกเข้าสู่เว็บไซต์ แทนที่จะมอบสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้อ่านอย่างแท้จริง
Google ไม่ได้เปิดเผยถึงวิธีการทำงานของอัลกอริทึมใหม่ของ Search ว่าทำงานอย่างไร และใช้วิธีไหนในการแยกแยะและจัดอันดับผลลัพธ์ โดย Google บอกเพียงแค่ว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของ Google ที่ต้องการยกระดับบริการ Search โดยเนื้อหาที่เป็นความจริง เนื้อหาที่เป็นออริจิรัลดั้งเดิม (ไม่ได้ Copy มาจากที่อื่น) เนื้อหาที่มีคุณภาพ จะถูกนำมาแสดงผลเป็นลำดับแรก ๆ
พอจะสรุปคร่าวได้ว่า SEO และคำคีย์เวิร์ดต่างๆ ในการสร้างคอนเทนต์(เนื้อหา) ยังมีความสำคัญอยู่ แต่บทความหรือเนื้อหานั้นๆ ต้องเป็นประโยชน์กับมนุษย์หรือผู้อ่านตัวจริงด้วยนั่นเอง
ในทางกลับกันผู้พัฒนา Google ยังอธิบาย หลักการคร่าวๆ ในการทำ คอนเทนต์เนื้อหาเพื่อผู้อ่านที่เป็นมนุษย์อย่างแท้จริงด้วย โดยสื่อมวลชนหรือผู้ที่ผลิตทำคอนเทนต์ เนื้อสามารถถามตัวเองก่อนจะปล่อยบทความอะไรออกมา ดังนี้
-มีกลุ่มผู้อ่านของเว็บไซต์ หรือธุรกิจที่จะเล็งเห็นถึงประโยชน์ในคอนเทนต์เนื้อเหล่านี้ เมื่อคลิกตรงเข้ามาชมเว็บไซต์ของคุณหรือไม่ ?
-เนื้อหาแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเว็บไซต์หรือเนื้อหานั้นๆ มีความเชี่ยวชาญ , เป็นข้อมูลปฐมภูมิ เป็นข้อมูลความรู้ชั้นแรก และมีความลึกในความรู้เหล่านั้นจริงหรือไม่ ?
-เว็บไซต์มีจุดประสงค์หรือเรื่องราวที่ให้น้ำหนักเป็นพิเศษไหม?
-เมื่อหลังจากอ่านเนื้อหาแล้ว จะมีผู้อ่านหรือผู้รับสารคนใดหรือไม่ ที่รู้สึกว่าตนเองได้อ่านมาเพียงพอแล้วเกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆ และทำให้ผู้อ่านบรรลุเป้าหมายที่ต้องการแล้ว ?
-จะมีผู้อ่านคนใดไหมที่อ่านคอนเทนต์ของคุณแล้วรู้สึกได้รับประสบการณ์ที่พึงพอใจ ?
การอัปเดตใหม่ helpful content update เหล่านี้จะเริ่มสัปดาห์หน้า และในเดือนหน้าเดือนกันยายนจึงจะอัปเดตได้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยการอัปเดต Google จะเริ่มจากเว็บไซต์ภาษาอังกฤษทั่วโลกก่อน ส่วนการขยับไปปรับปรุงที่ภาษาอื่นๆ ต้องรอในอนาคตอันใกล้ตามแผน Google ต่อไป
• สื่อมวลชน คนทำคอนเทนต์ควรหลีกเลี่ยงอะไร
หลักเกณฑ์ที่เฉพาะเจาะจง หลีกเลี่ยงเทคนิคต่อไปนี้ อาทิ
- เนื้อหาที่สร้างโดยอัตโนมัติโดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมการจัดอันดับการค้นหา
- เข้าร่วมรูปแบบลิงก์
- สร้างหน้าเว็บที่มีเนื้อหาต้นฉบับน้อยหรือไม่มีเลย
- ปิดบังหน้าเว็บจริง
- แอบเปลี่ยนเส้นทาง
- ข้อความหรือลิงก์ที่ถูกซ่อน
- เนื้อหาที่คัดลอกมา
- โหลดหน้าเว็บที่มีคีย์เวิร์ดที่ไม่เกี่ยวข้อง
- สร้างหน้าเว็บที่มีพฤติกรรมที่เป็นอันตราย เช่น ฟิชชิง หรือการติดตั้งไวรัส โทรจัน หรือแบดแวร์อื่นๆ
- ส่งคำค้นหาที่สร้างขึ้นโดยอัตโนมัติมาที่ Google