อธิบายกรณีศาลปกครองสูงสุด ตัดสินให้ทายาทของสมัคร สุนทรเวช ชดใช้ค่าเสียหายจากคดีทุจริตจัดซื้อรถเรือดับเพลิง กทม. 587 ล้านบาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กลายเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ หลังจากศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้ทายาท ของสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ผู้ล่วงลับ ชดใช้ค่าเสียหายจากคดีทุจริตจัดซื้อรถเรือดับเพลิง กทม. 587 ล้านบาท (ยังไม่รวมดอกเบี้ย) ซึ่งรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ดำเนินรายการโดย ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ได้สัมภาษณ์ โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานศาลแขวง เพื่อซักถามข้อสงสัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. จุดเริ่มต้น คดีทุจริตจัดซื้อรถเรือดับเพลิง กทม.
คดีนี้มีจุดเริ่มต้นในปี 2547 ในยุคผู้ว่าฯ กทม. ชื่อสมัคร สุนทรเวช ได้เซ็นอนุมัติจัดซื้อรถเรือดับเพลิง ซึ่งต่อมาสมัครได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 9 กันยายน ปี 2551 ก่อนเสียชีวิตลงในปี 2552
ต่อมาปี 2553 โดย ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดว่าการจัดซื้อรถเรือดับเพลิงดังกล่าว สูงกว่าความเป็นเป็นจริง กลายเป็นคดีมหากาพย์ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน และล่าสุดศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ให้ทายาทโดยธรรม ซึ่งได้แก่ ภรรยาและบุตรสาว 2 คน ของสมัคร ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 587 ล้านบาท (ยังไม่รวมดอกเบี้ย) ซึ่งถือว่าเป็นจำนวน 30 % ของค่าเสียหายทั้งหมด
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
2. กรณีที่ทายาท ต้องชดใช้หนี้แทนผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว
และเมื่อช่วงเช้าวันที่ 17 มิถุนายน 2565 รายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailandได้สัมภาษณ์ โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานศาลแขวง ถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ทายาทของสมัคร ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากคดีทุจริตดังกล่าว
โดยโกศลวัฒน์ได้อธิบายว่า คดีทุจริตที่สร้างความเสียหายให้กับรัฐ แล้วทายาทต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายนั้น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 ว่าด้วยเรื่องมรดก ได้ระบุถึงกองมรดกผู้ตาย ทั้งทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย รวมถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เพราะฉะนั้นผู้ที่รับมรดก ต้องรับหน้าที่ไปด้วย หากผู้ตายต้องคืนเงินหลวงหรือค้างชำระหนี้กับบุคคลใด ก็สามารถฟ้องร้องให้ทายาทผู้รับมรดกชดใช้ได้
ซึ่งในกรณีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ให้กองมรดก หรือทายาทที่รับมรดก ซึ่งได้แก่ภรรยาและบุตรสาวทั้ง 2 คนของสมัคร ชดใช้เงินจำนวน 587 ล้านบาท รวมทั้งดอกเบี้ย นับตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วค่าเสียหายที่ต้องชดใช้น่าจะเฉียดๆ หลักพันล้านบาท
3. ในกรณีที่หนี้ที่ต้องชดใช้ มากกว่ามรดกที่ได้รับ
โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานศาลแขวง อธิบายต่อไปว่า แต่กฎหมายดังกล่าวก็ระบุว่า ทายาทรับผิดชอบไม่เกินมรดกที่ได้รับ ดังนั้นถ้ามรดกที่ได้รับน้อยกว่าความเสียหาย ก็ชดใช้เท่ากับที่ได้รับมรดกมา สมมติทายาทได้รับมรดก 100 ล้านบาท ก็รับผิดชอบแค่ 100 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นธรรมกับผู้ที่รับมรดก
สุดท้ายนี้ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ได้ตั้งข้อสงสัยว่า ในกรณีของเคสอื่นๆ หากได้มีการเตรียมหาทางหนีทีไล่ไว้ตั้งแต่ต้น เช่น ผู้กระทำทุจริตได้โอนทรัพย์สินไปให้นอมินี ตั้งแต่ก่อนที่มีจะมีการฟ้องร้องจนเป็นคดีความ เพื่อป้องกันไม่ให้ทายาทต้องมารับผิดชอบค่าความเสียหายในภายหลังนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่
ซึ่งโกศลวัฒน์ได้กล่าว การกระทำดังกล่าวอาจหนีไม่พ้นกฎหมายฟอกเงินของ ป.ป.ง. ที่สามารถติดตามสืบทรัพย์ และตรวจสอบพฤติกรรมได้ ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ว่า ทรัพย์ที่โอนไปให้บุคคลอื่นๆ เป็นการซุกทรัพย์ หรืออำพรางทรัพย์ ก็สามารถเรียกคืนได้