พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อดีต ผบ.ตร. ชำแหละร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปฏิรูปตำรวจได้จริงหรือไม่ ?
การปฏิรูปตำรวจ เป็นอีกเงื่อนไขสำคัญที่ คสช. ใช้อ้างในการรัฐประหารเมื่อปี 2557 แต่ผ่านมาแล้ว 8 ปี แทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเท่าไหร่นัก และแม้ตอนนี้จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในสภา แต่ก็เป็นไปอย่างล่าช้า
รายการสุดกับหมาแก่ ชวน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อดีต ผบ.ตร. ผู้ที่รู้ลึกรู้จริงเรื่องตำรวจ มาชำแหละสาระสำคัญต่างๆ ใน ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในสภา ว่าถึงที่สุดแล้ว จะสามารถปฏิรูปตำรวจได้จริงหรือไม่ ?
เจาะลึกการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มีทั้งหมด 172 มาตรา โดยเขียนขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ ทำให้การพิจารณาเป็นไปอย่างล่าช้า แต่เนื้อหาก็ไม่ได้แตกต่างจากฉบับเดิมมากนัก
อาทิเช่น การแต่งตั้งโยกย้าย ผบ.ตร. ได้ให้อำนาจกับ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ในการพิจารณา ซึ่งยังคงระะบุให้ นายกฯ เป็นประธาน จึงเท่ากับว่า นายกฯ ยังมีอำนาจในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ทำให้ตำรวจไม่เป็นอิสระ เพราะไม่สามารถหลุดพ้นจากวังวนทางการเมืองได้
รวมถึงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ก็อาจถูกนักการเมืองแทรกแซงได้ เพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ไม่ใช่เพื่อประเทศชาติแต่อย่างใด
บทความจากรายการสุดกับหมาแก่
ปฏิรูปตำรวจ ต้องปฏิรูปงานสืบสวนสอบสวน
ในส่วนของงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งถือว่าเป็นอีกหัวใจสำคัญในการปฏิรูปตำรวจ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับล่าสุด ก็ไม่ได้แตกต่างจากที่แล้วมา
ซึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เห็นว่าการที่จะทำให้งานด้านการสืบสวนสอบสวนของตำรวจเป็นไปอย่างเข้มแข็ง ต้องเริ่มต้นจากตำรวจในกลุ่มงานดังกล่าวมีความรู้ด้านกฎหมายอย่างลึกซึ้ง และมีการกำหนดตำแหน่งบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน อีกทั้งยังจะทำให้การทำงานร่วมกับอัยการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
การถ่วงดุลอำนาจ ตำรวจ – อัยการ ในงานด้านการสอบสวน
อีกเรื่องที่มีการพูดถึงกันเป็นอย่างมากในคดีอาญาต่างๆ นั่นก็คือการให้อัยการได้เข้าไปมีส่วนรวมในการสอบสวน ในการทำสำนวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า เขายังไม่เห็นประเด็นนี้ใน ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และได้แสดงความคิดว่า เป็นเรื่องที่ดีในทางทฤษฎี แต่อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ
โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้เสนอแนะว่า หากแต่งตั้งพนักงานสอบสวนที่มีคุณวุฒิเทียบเท่าอัยการ ในการทำงานด้านสืบสวนสอบสวนและทำสำนวน ส่วนอัยการก็ยังมีอำนาจในการพิจารณาสำนวน ก็จะทำให้การทำงานด้านนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และการถ่วงดุลอำนาจกันในการทำงานก็ยังคงมีอยู่
ติดตามรายการสุดกับหมาแก่ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ดำเนินรายการ เสาร์ - อาทิตย์ เวลา 21.30 น. ทาง Facebook : SpringNews , YouTube : Spring เเละ Nation TV 22