วทันยา บุนนาค "มาดามเดียร์" เสนอรัฐบาล ทบทวนการเก็บภาษีหุ้น ได้ไม่คุ้มเสีย อย่าเชือดไก่เพื่อเอาไข่ หากจะเก็บควรเป็นแบบ Capital Gain Tax อย่าเอาแต่สะดวกเข้าว่า
น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ มาดามเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีกระทรวงการคลัง จะเดินหน้าเก็บภาษีการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) โดยเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าที่ขาย โดยระบุว่า เก็บภาษีหุ้น ... เรากำลังจะเชือดไก่เพื่อเอาไข่กันอยู่รึเปล่า ?
ตื่นมาเช้านี้เจอแต่ข่าวร้ายเรื่องเศรษฐกิจ ดาวน์โจนส์ติดลบ 876 จุด บิตคอยน์ร่วงเหลือ 2.2 หมื่นดอลลาร์ ไม่นับตลาดหุ้นไทยที่รับข่าวร้ายดิ่งลงตามเศรษฐกิจโลก เข้าสู่ยุคผันผวน เงินเฟ้อหนักเป็นประวัติการณ์ในรอบ 13 ปีเพราะราคาต้นทุนที่เพิ่งสูงขึ้น วิกฤติโควิดผสมกับปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กลายเป็นปัญหายืดเยื้อ
ในขณะที่เอกชนไทยเตรียมออกหุ้นกู้ในปี 2565 จำนวน 1.2 ล้านล้านบาท นั่นคงเป็นสัญญาณให้เห็นถึงการเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจผันผวนของภาคเอกชนจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ การเตรียมระดมทุนเงินจำนวนมหาศาลของเอกชนนั้นยังบอกอะไรเราอีกหนึ่งอย่าง
นั่นก็คือ "ความสำคัญของตลาดทุน" ในการเป็นที่พึ่งพิงให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในยามที่ต้องพึ่งพิงตนเอง ไม่สามารถหวังพึ่งพารัฐได้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
เดียร์ยังยืนยันขอให้รัฐบาลทบทวนว่า การเก็บภาษีตลาดทุนนั้น หากรัฐจะดำเนินการรัฐควรพิจารณาการเก็บภาษีแบบ Capital Gain Tax เพื่อความเป็นธรรมสำหรับนักลงทุนที่ต้องชำระค่าภาษี มากกว่าการเก็บภาษีการซื้อ-ขาย เพียงเพราะหน่วยงานสามารถทำงานสะดวกกว่า
แต่สิ่งสำคัญที่สุดก่อนที่ภาครัฐจะดำเนินการนโยบายใดก็ตาม ที่จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง รัฐต้องไม่ลืมคำนึงถึง ความเหมาะสมของนโยบาย
การเก็บภาษีหุ้นที่จะส่งผลกระทบถึงตลาดทุนของประเทศไทย อย่างแน่นอนในขณะที่สภาพเศรษฐกิจและประชาชนกำลังเจอวิกฤติรุมเร้า
การเลือกผลักดันนโยบายดังกล่าวท่ามกลางวิกฤตินั่นคือ สิ่งที่เหมาะสมแล้วหรือ ?
เราเข้าใจว่ารัฐบาลเองก็ต่างมีภาระที่ต้องดูแลประชาชนทั่วทุกกลุ่ม แต่เม็ดเงินจำนวนประมาณ 20,000 ล้านบาท ที่รัฐคาดว่าจะเก็บได้จากการรีดภาษีหุ้นกับคนรวย
ที่หากเราดูมิตินี้เพียงด้านเดียวก็พอจะเข้าใจถึงเหตุผลของรัฐบาล แต่ในข้อเท็จจริงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตลาดทุน ซึ่งสุดท้ายก็จะกลายเป็นปัญหาวนกลับมาที่ประชาชนเหมือนเดิมนั้นคือ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่รัฐต้องไม่มองข้าม
พร้อมทิ้งท้ายว่า เหมือนอย่างที่เดียร์เคยนำเสนอว่า อย่าให้ต้องเชือดไก่ เพื่อเอาไข่ กับการตัดสินใจเพียงมิติเดียว เพราะเม็ดเงินจำนวน 20,000 ล้านบาท ที่ได้มาอาจไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องเสียไป
โดยเฉพาะเงินจำนวน 20,000 ล้านบาท ที่ว่านั้น สามารถลดภาระได้เพียงการลดต้นทุนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นของรัฐ(ที่มีมากมาย) ในระหว่างที่กรรมาธิการงบประมาณกำลังพิจารณาอยู่ในตอนนี้