svasdssvasds

"การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ" โอกาสใหม่ในการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ของไทย

"การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ" โอกาสใหม่ในการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ของไทย

หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทย ชะงักตัวลงทันที ห้องพักว่างเปล่าเกือบ 2 ปี ทันทีที่ความรุนแรงของไวรัสลดลง การท่องเที่ยวเริ่มฟื้น กลุ่มธุรกิจสุขภาพเล็งเห็นโอกาสที่จะทำให้ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ของไทยกลับมาผงาดอีกครั้ง

พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ประธานกฎบัตรแห่งชาติ (National Charter) ระบุในงาน Thailand Top Wellness World 2022 (TTWW) Forum ว่า ที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของดชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยชะงักตัวลง ดังนั้นการหันมามุ่งเน้นไปยังธุรกิจ "การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ(Health and wellness tourism)" จะกลายเป็นทางรอดหนึ่งของประเทศไทยภายหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

"เราไม่รู้หรอกว่าในอนาคตการแพทย์ระบายของเชื้อไวรัสตัวใหม่ ๆ จะกลับมาแพร่ระบาดอีกเมื่อไหร่ ซึ่งถ้าหากไม่มีการเตรียมพร้อมการรับมือกับการแพร่ระบาดเหล่านี้ ธุรกิจในจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ อย่าง ภูเก็ต ก็จะล้มหายตายจากไป ดังนั้นการทำงานร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะหาแนวทางรับมือกับสิ่งเหล่านี้" 

Long COVID ทำให้ไทยยิ่งเหมาะกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

(ซ้าย) พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ประธานกฎบัตรแห่งชาติ (National Charter) , (กลาง) รศ.ดร.นพ. กำพล ศรีวัฒนกุล ประธาน กฎบัตรสุขภาพ (Holistic Wellness) , (ขวา) ดร. Christopher Jensen หัวหน้าแพทย์จากบริษัท CISSA Group

ด้าน รศ.ดร.นพ. กำพล ศรีวัฒนกุล ประธาน กฎบัตรสุขภาพ (Holistic Wellness) ระบุว่า ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย ส่วนตัวมองว่าเรามีความพร้อมในทุกอาการป่วย ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ ขณะเดียวกันเอง อาการลองโควิด (Long COVID) เอง น่าจะหนึ่งในอาการของผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่กับตัวเราไปอีกนาน ดังนั้นประเทศไทยจะสามารถตอบโจทย์ในการรักษาอาการนี้ รวมถึงอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากแต่ละช่วงวัยได้ และส่วนตัวเชื่อว่าคนไทยจะพร้อมรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากทั่วทั้งโลก

เรื่องเที่ยวไทยก็มีครบ เรื่องรักษาโรคไทยก็มีพร้อม

ดร. Christopher Jensen หัวหน้าแพทย์จากบริษัท CISSA Group ระบุว่า ประสบการณ์การทำงานระหว่างไทยและต่างประเทศมากกว่า 30 ปี การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจเชิงสุขภาพเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ส่วนตัวมองว่าหลังจากการแพร่ระบาดประเทศที่มีความพร้อมทั้งในด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจเชิงสุขภาพนั่นคือประเทศไทย เพราะที่ไทยเองมีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข โรงพยาบาล รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว อย่างโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยว 

ศ.ดร. Mike Chan ประธานและนักวิจัยอาวุโส ของ บริษัท European Wellness Medical Group กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโอกาสมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในการทำการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ จากประสบการณ์กว่า 40 ปี ในการรักษาสุขภาพและความงามของคนไข้กว่า 1,000 คนทั่วโลก เขาเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถเป็น ซันโดรีนีของเอเชียได้ คือมีทั้งความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวและมาตรฐานในการดูแลสุขภาพ

ศ.ดร. Mike Chan ประธานและนักวิจัยอาวุโส ของ บริษัท European Wellness Medical Group

"ส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบประเทศไทยมากเพราะนอกจากจะสามารถหาผลิตภัณฑ์แบรนด์เนมต่าง ๆ ทั่วโลกได้ในประเทศไทยแล้วยังมีธุรกิจเชิงสุขภาพครบวงจรในการมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ซึ่งประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของภูมิภาคนี้หรือแม้กระทั่งรวมไปถึงศูนย์กลางของโลกได้"

อ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ชื่อเสียงดี รัฐ-เอกชน บูรณาการดี จะมีชัยไปกว่าครึ่ง

มร. Jacky Ong ผู้บริหารของ CISW Holding Group ผู้จัดงาน Thailand Top Wellness World 2022 (TTWW) Forum ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่จะสามารถเป็นอันดับ 1 ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่บริหารจัดการการของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกดังนั้นการเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกจึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวนัก 

มร. Jacky Ong ผู้บริหารของ CISW Holding Group ผู้จัดงาน Thailand Top Wellness World 2022 (TTWW) Forum

ภาวิณี สังขบูรณ์ ผู้แทนผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ส่วนตัวในฐานะของผู้ขับเคลื่อนนโยบายศูนย์กลางด้านสุขภาพของประเทศไทย พร้อมที่จะสนับสนุนทุกหน่วยงานที่จะส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้น กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความงามให้เติบโตมากยิ่งขึ้น 

สำหรับประเทศไทยเองเรื่องสุขภาพถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญและบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลเองก็มีการดำเนินนโยบายมาตั้งแต่ปี 2559 ขณะเดียวกันเองประเทศไทยก็มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งทางด้านของกระทรวงสาธารณสุขก็มีการสนับสนุนในเรื่องของการเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวและคนไข้ที่จะเข้ามารักษาภายในประเทศควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาด

ขณะเดียวกันก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระแสการรักษาสุขภาพของผู้คนทั่วโลกเริ่มมา ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะการมีสุขภาพดีแต่รวมไปถึงการมีความงามและการดูแลผิวพรรณ , ร่างกาย, กล้ามเนื้อ ผ่านการนวดแผนไทยและสมุนไพรต่าง ๆ ของไทยก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ซึ่งในอนาคตก็จะมีการเปิด ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับธุรกิจเชิงสุขภาพ ในจังหวัดเลียบทะเลอันดามัน ซึ่งในส่วนของนโยบายเองก็จะคล้ายกับ ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ และธุรกิจต่าง ๆ ได้เติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตหลังจากนี้ก็จะมีการขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับธุรกิจเชิงสุขภาพไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ในประเทศไทยด้วย

ภาวิณี สังขบูรณ์ ผู้แทนผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

เทคโนโลยีที่ดียิ่งทำให้คนหันมาสนใจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทยมากขึ้น

มร. Claus F. Nielsen ผู้บริหารของ B-Healthy Asia ระบุว่า การที่เรารู้ว่าร่างกายเราเป็นอย่างไร ? มีสุขภาพเป็นอย่างไร ? ก่อนที่เราจะป่วยถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและเทคโนโลยีจะเข้ามาทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้จริง ซึ่งหากเรามีข้อมูลของร่างกายเราก็จะสามารถทำให้เรารู้ได้ว่าหลังจากนี้ เราควรจะใช้ชีวิตอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการป่วยหรือชะลอการแก่ชราลง 

"การที่ประเทศไทยมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐเอกชนและนักวิจัยในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและธุรกิจเชิงสุขภาพถือเป็นเรื่องที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาธุรกิจสุขภาพไปอีกขั้นหนึ่งได้"

มร. Claus F. Nielsen ผู้บริหารของ B-Healthy Asia

ขณะเดียวกันกลุ่มบริษัท CISW และพันธมิตร เตรียมจัดงาน CISW Thailand Wellness Expo 2022 ในวันที่ 9-12 กันยายน พ.ศ. 2565 และช่วงเดียวกันในปีถัดไป เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการพัฒนาการธุรกิจสุขภาพของประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับศูนย์กลางสุขภาพและการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของโลก นอกจากนี้ยังมีการจัดงานสัมมนาเพื่อเชื่อมต่อทางธุรกิจ ในปี 2566 อีกด้วย

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กลุ่มบริษัทในเครือ CISW , B-Healthy Asia และ พันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อพัฒนาความร่วมมือกันระหว่างธุรกิจด้านสุขภาพให้มีความมั่นคงและยั่งยืนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

related