อาจเป็นข้อสงสัยสำหรับใครหลายคนเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA ที่ได้มีโซเชียลมีเดียแชร์กันมากมายจนทำให้เกิดความสับสน ว่าการติดกล้องหน้ารถยนต์ สามารถแชร์ภาพหรือวีดีโอลงโซเชียลมีเดียได้ไหม และจะผิดกฎหมาย PDPA หรือไม่ ซึ่งยังมีรายละเอียดต่างๆมากมายที่คุณต้องรู้
กฎหมาย PDPA ได้ออกมาเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นการติด “กล้องหน้ารถยนต์” ที่เป็นการจับภาพไว้ตลอดเวลาขณะขับรถหรือจอดรถจึงเป็นที่สงสัยและสับสนกันในขณะนี้
ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เเละระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ให้แง่คิดและเปรียบเทียบไว้ว่า
“นึกถึงการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน หากคุณไม่อยากอยู่ในกล้องหรือโซเชียลมีเดียของใคร ก็ไม่ควรจะโพสต์ภาพคนอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายเช่นกัน”
เพราะกฎหมาย PDPA กับกล้องติดหน้ารถยนต์ นั้นจะผิดก็ต่อเมื่อ “เจตนาทำให้คนผู้อื่นเสียหาย อับอาย หรือได้รับความสุ่มเสี่ยง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณจับภาพท้องถนน รถยนต์ ต้นไม้ และรถยนต์ที่วิ่งผ่านไปมาเรื่อยๆ โดยไม่มีวคามตั้งใจและไม่มีเจตนาทำให้ผู้อื่นเสียหาย เพียงจับภาพไว้เพื่อรักษาความปลอดภัยและระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดใดๆ และไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง
แต่หากคุณจอดรถไว้และมีการบันทึกภาพ ยกตัวอย่างเหตุการณ์เช่น มีคนทะเลาะกันที่หน้ารถของคุณ และคุณนำภาพหรือวีดีโอเหล่านี้มาลงบนโซเชียล ซึ่งทำให้บุคคลนั้นเสียหายและเกิดความอับอาย นั่นถือว่าเป็นความผิดแน่นอน
สรุปสั้นๆง่ายๆเกี่ยวกับความผิดของ PDPA ในกล้องติดรถยนต์ เมื่อคุณต้องการโพสต์ภาพหรือวีดีโอจากกล้องติดรถยนต์ลงโซเชียล สิ่งที่คุณต้องคำนึงถึงคือภาพหรือวีดีโอเหล่านั้นมีข้อมูลต่างๆของผู้อื่นหรือไม่ เช่น ใบหน้าบุคคล เลขทะเบียนรถ เบอร์โทรศัพท์ บ้านเลขที่ หรือใดๆก็ตามที่สามารถนำข้อมูลไปให้เกิดความเสียหายได้ เพราะหากมีข้อมูลภาพหรือวีดีโอเหล่านี้จะมีความสุ่มเสี่ยงในการทำให้บุคคลเหล่านั้นเสียหายได้ และถ้าหากไม่มี ก็สามารถลงได้ตามปกติ หรือทำการเบลอข้อมูลต่างๆของผู้อื่นได้
และ ดร.ปริญญา หอมเอนก ยังได้เน้นย้ำว่า “กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่า ห้ามถ่ายรูปติดคน,ห้ามถ่ายวีดีโอติดคน” แต่กฎหมายได้ระบุไว้ว่า หากมีข้อมูลใดๆที่เราบันทึกไว้ในภาพหรือวีดีโอและหากจะนำไปใช้ ควรจะขออนุญาตเจ้าตัวก่อน หรือหากมีความสุ่มเสี่ยงมากเกิดไปก็ไม่ควรจะนำไปลงในสาธารณะ