นิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที และ คริส โปตระนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับนโยบายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ในรายการอยากเห็นกรุงเทพดีกว่านี้ ดำเนินรายการโดย พิภู พุ่มแก้วกล้า
รายการอยากเห็นกรุงเทพดีกว่านี้ ดำเนินรายการโดย พิภู พุ่มแก้วกล้า ร่วมพูดคุยกับ นิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที และ คริส โปตระนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย ว่านโยบายและแนวทางที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หาเสียงไว้ จะตอบโจทย์ความต้องการของคนกรุงเทพฯ และแก้ปัญหาต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด ? โดยมีประเด็นคำถามและความคิดเห็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
แนวทางของชัชชาติ จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้หรือไม่ ? และข้อเสนอแนะที่อยากให้ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. นำไปพิจารณา ?
ประเด็นแรก พิภูได้หยิบยกแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมของชัชชาติ ที่เน้นเรื่องการขุดลอกคูคลอง 6 พันกว่ากิโลเมตร และขุดลึกลงไปอีก 50 เซนติเมตร เพื่อทำให้เกิดแก้มลิงตามธรรมชาตินั้น จะเวิร์กหรือไม่ ?
ซึ่ง คริส โปตระนันทน์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า การขุดลอกคูคลองเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่อีกต้นตอสำคัญที่ทำให้การระบายน้ำใน กทม. เป็นไปอย่างล่าช้า ก็คือขนาดของท่อระบายน้ำที่เล็กมาก และไม่ได้เปลี่ยนมาเป็นเวลานาน
แต่ในวันนี้กรุงเทพฯ มีมากมายหลายปัญหา จึงเกิดถามขึ้นว่า ชัชชาติจะทำเรื่องไหนก่อน ขุดลอกคูคลอง วางท่อระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ก็มีปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญเช่นกัน อย่างระบบสาธารณสุข ซึ่งแน่นอนว่า กทม. ไม่สามารถทำพร้อมกันได้ เพราะติดเรื่องงบประมาณที่มี 8 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งเฉพาะรายจ่ายประจำก็ 70 % เข้าไปแล้ว เหลืองบฯ ไว้ใช้จริงๆ แค่ 30 % เท่านั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
“ชัชชาติ” พร้อมเป็น ผู้ว่าฯ กทม. ของทุกคน สานต่อนโยบายหาเสียงเด่นของทุกคน
ป้ายหาเสียงชัชชาติ ไอเดียสุดเจ๋ง ที่ถูกจ้องจับผิด ฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ?
ส่วน นิติ เมฆหมอก ในฐานะนายกสมาคมไทยไอโอที ได้เสนอการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยเทคโนโลยี IoT โดยนำเซ็นเซอร์ไปเช็กระดับน้ำ ปริมาณน้ำ ฯลฯ ตามจุดต่างๆ ของแต่ละคลอง ทำให้รู้ว่าน้ำที่ไหลมามีปริมาตรเท่าไหร่ จะไหลเข้าไปสู่คลองสายใหญ่ลงสู่แม่น้ำ หรือท่อระบายมากน้อยอย่างไร แล้วข้อมูลตรงนี้ก็สามารถนำไปเตือนประชาชนได้ เช่น อย่าเพิ่งเข้าไปในพื้นที่นั้นๆ เพราะระดับน้ำกำลังเพิ่มขึ้นสูง เป็นต้น
“โดยอุปกรณ์เหล่านี้มีหลายมาตรฐาน และไม่จำเป็นต้องติดตั้งตามคลองต่างๆ อย่างถาวร แต่อาจจะใช้รถโมบายเคลื่อนที่ ราคาต่อเครื่องมีตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสม” นิติกล่าว
แนวคิด Smart Enough City ของชัชชาติ และจำเป็นหรือไม่ที่ต้องติดตั้ง Wi-Fi ฟรีทั่ว กทม. ?
ประเด็นต่อไป พิภูได้หยิบยกแนวคิด Smart Enough City ของชัชชาติ เมืองที่ฉลาดอย่างพอเหมาะ ไม่ถึงขั้น Smart City เมืองอัจฉริยะ แต่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดี และความน่าอยู่เป็นสำคัญ ขึ้นมาสอบถามความคิดเห็นของผู้ร่วมรายการ
โดยนิติได้กล่าวว่า นโยบายการพัฒนาเมืองของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ค่อนข้างคล้ายๆ กัน แต่อาจจะแตกต่างกันในเรื่องของสเกล ซึ่งตนไม่คิดว่า กทม. จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลา 6 เดือน - 1 ปี ดังนั้นนโยบายที่ชัชชาติเสนอ จึงสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจปัญหา แล้วค่อยๆ ปรับค่อยๆ เปลี่ยน ให้ผู้คนส่วนใหญ่ได้มีโอกาสคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไป
ส่วนเรื่อง Wi-Fi ฟรี จำเป็นต้องติดตั้งทุกจุดหรือไม่นั้น หรือติดตั้งแค่บางจุดก็เพียงพอ นิติได้แสดงความคิดเห็นว่า เราต้องมีข้อมูลก่อนว่า ประชาชนในจุดนั้นๆ มีความต้องการใช้ Wi-Fi ฟรีมากน้อยขนาดไหน ต้องประเมินว่า ลงทุนแล้วเกิดความคุ้มค่าหรือเปล่า ซึ่งตนคิดว่า ในปัจจุบันคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีความพร้อมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว
ส่วนคริสแสดงความคิดเห็นว่า ไม่ใช่ทุกคนใน กทม. ที่มีอินเทอร์เน็ตในมือถือ แต่ก็ตามที่นิติบอก คาดว่าประชาชนส่วนใหญ่ใน กทม. น่าจะเกิน 95 % ที่มีความพร้อมเรื่องอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว แต่ถ้าสามารถติด Wi-Fi ฟรี ได้ทั่ว กทม. ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องพิจารณาเรื่องงบประมาณและความคุ้มค่าด้วย
นโยบายเกี่ยวกับสาธารณสุข
ในประเด็นระบบสาธารณสุข คริสกล่าวว่า นโยบายของคุณชัชชาติ มีการกล่าวถึง Telemedicine (การแพทย์ทางไกล) ประชาชนไม่ต้องเข้าไปศูนย์สาธารณสุข แต่จะนำรถที่มีจอเข้าไปในชุมชนแทน แต่คน กทม. ส่วนใหญ่ 70 % ใช้สิทธิประกันสังคม
แต่ไม่ใช่ตนไม่เห็นด้วยนะ เพราะจริงๆ แล้ว Telemedicine เป็นแนวทางที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญก็คือคุณชัชชาติต้องหาวิธีการเพิ่มแรงจูงใจให้หมอเก่งๆ มาทำงานในศูนย์สาธารณสุข หรือเพิ่มแรงจูงใจให้หมอเก่งๆ มาทำงานในโรงพยาบาลของ กทม. แล้วนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นตัวช่วย
และถ้าในอนาคตมี Telemedicine ก็จะลดเวลาการรอคอยของประชาชน และหมอสามารถดูแลคนป่วยได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วในเวลานี้มีแพลตฟอร์ม Telemedicine ของผู้ประกอบการไทยหลายรายที่ใช้งานได้ดี แล้วราคาก็ไม่สูงนัก
ส่วนนิติเสริมว่า อุปกรณ์ที่ขอเสนอเพิ่มเติมก็คือ Laser Watch คล้ายๆ กับ Smart Watch สามารถนำไปใช้กับประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ แต่ต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล หรือในอนาคตระบบ Telemedicine อาจใช้โดรนเข้าไปในชุมชนแทนรถก็ได้
นโยบายไหนที่อยากให้ชัชชาติเร่งดำเนินการมากที่สุด ?
นโยบายที่คริสอยากให้ชัชชาติดำเนินการมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับระบบสุขภาพ ระบบสาธารณสุข พร้อมเสนอว่า ควรมีคลินิกตามชุมชนที่สามารถรักษาโรคไม่ร้ายแรงได้ จะได้ช่วยแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลใหญ่ ทำให้โรงพยาบาลใหญ่รองรับรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วนเป็นหลัก
และอีกสิ่งหนึ่งที่คริสอยากให้ชัชชาติทำมากๆ ก็คือ การให้คนทั่วๆ ไป สามารถเข้าถึงระบบตรวจสุขภาพฟรี ซึ่งจะช่วยให้รายจ่ายด้านสาธารณสุขของ กทม. ในภาพรวมลดลงด้วย เพราะการป้องกัน ย่อมดีกว่าการตามแก้แน่นอน
ซึ่งในประเด็นนี้นิติก็มีความเห็นสอดคล้องกับคริส โดยเขากล่าวว่า ถ้าให้เลือก ก็คิดว่าเรื่องสุขภาพที่ดีต้องมาก่อน แล้วก็ต่อยอดไปเรื่องอื่นๆ ได้ อย่างนโยบายเรียนดี ก็จะส่งเสริมให้เยาวชนเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ในอนาคต สิ่งที่ตามมาก็คือเศรษฐกิจที่ดี แต่เบื้องต้น ต้องเริ่มจากสุขภาพที่ดีก่อน
สุดท้ายนี้นิติกล่าวว่า “คะแนนเสียงมากกว่า 50 % ชาว กทม. มอบให้กับคุณชัชชาติแล้ว ชาว กทม. ฝากความหวังไว้กับคุณ ก็ขอให้คุณชัชชาติประสบความสำเร็จในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ตลอดระยะเวลา 4 ปี
ส่วนคริสกล่าวว่า ตอนนี้คุณชัชชาติคือความหวังของคน กทม. ที่จะต้องการเห็นสิ่งต่างๆ ดีขึ้น ประชาชนได้รับการดูแลมากขึ้น อย่างที่ผ่านมาเวลามีผู้เสียชีวิตตามบ้านจากโรคโควิด กลุ่มเส้นด้าย อาสาสมัครต่างๆ ต้องเข้าไปรับศพ ซึ่งจริงๆ แล้วควรเป็นหน้าที่ของรัฐ
หรืออย่างเวลาเกิดอุบัติเหตุ แทนที่จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐไปถึงจุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว กลับเป็นอาสาฯ ของมูลนิธิต่างๆ ที่ไปถึงก่อน วันนี้มาถึงจุดที่คุณชัชชาติเป็นความหวังของชาว กทม. แล้ว ในการที่จะทำให้ 4 ปี นับจากนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป